เฉลยปัญหาประจำเดือน กรกฎาคม 2552

ปัญหาข้อที่ 1 :
 
“ แดนนี้ก่อให้เกิดความหวัง หวนกลายเป็นความหลัง ศรีตรังร่วงโรยโปรยเกลื่อน
ความอาลัยนั้นคอยกรีดเฉือน คอยย้ำใจเสมือนเตือนผูกพัน  "
   
คำถาม :
เพลง “ ยังไม่ลืมศรีตรัง ” (Version 2) ซึ่งเสียงร้องเป็นนักร้องหญิง บันทึกเสียงเมื่อปี 2544 อยากทราบว่า
ใครเป็นผู้ขับร้อง
 
 
 
ก) ฝน ธนสุนทร
ข) รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส
ค) นัท มีเรีย
ง) สุนารี ราชสีมา
   
คำตอบ : ข)   รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส {audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song52/July09-full.mp3{/audio}

เกร็ดความรู้

              ในปัจจุบัน แทบจะพูดได้ว่าทุกมหาวิทยาลัย มีเพลงประจำสถาบันเป็นของตนเอง
               หากเพลงของสถาบันใด มีความไพเราะ เป็นที่รู้จักคุ้นหู ย่อมสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ผู้คนในสถาบันนั้น
               ม.อ. ของเรา มีเพลงเพราะๆ ที่ประทับใจอยู่หลายเพลง หนึ่งในจำนวนนั้น คือเพลง “ ยังไม่ลืมศรีตรัง 
              ผู้ใดที่ยังไม่เคยฟังเพลงนี้ ขอให้ลองไปฟังดู เพราะหลายต่อหลายคนที่มีความหลังอยู่กับ ม.อ. เมื่อฟังเพลงนี้แล้ว น้ำตาพาลจะไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว
              เพลง “ ยังไม่ลืมศรีตรัง ” version แรก ที่พี่ปื๊ด (ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา) บันทึกเสียงไว้เมื่อปี 2527 ฟังอีกสักกี่ครั้ง  ก็ฟังได้ไม่รู้เบื่อ
              โดยเฉพาะอย่างยิ่ง...เนื้อร้อง ที่แต่งขึ้นโดยกลั่นกรองออกมาจากหัวใจของพี่เนาะ  (ผู้ช่วยศาสตราจารย์มะเนาะ ยูเด็น1)  นั้น
มีความงดงามทางภาษา โดยแต่ละวรรค แต่ละตอนนั้น ล้วนแล้วใช้ถ้อยคำที่่มีความหมายลึกซึ้ง กินใจ
 
“ วันแสนชื่นไม่คืนดังฝัน เสียดายวันสุขสันต์ นับวันร้างไปไกลห่าง
วันอำลานั้นมาขัดขวาง พาหัวใจอ้างว้างร้างแรมเลือน ”
 
 
              เมื่อนำเนื้อร้องดังกล่าว มาประกอบเข้ากับทำนองของ "อาจารย์ปราโมทย์ กระมุท2 "แล้ว เพลงนี้ก็สามารถกล่าวได้ว่าไม่มีข้อติใดๆ
              โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ “ พี่พิมพ์ ”  ปรมาจารย์เพลง ฝีมือระดับแผ่นเสียงทองคำ “ พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์3 ” มาเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานด้วยแล้ว เพลงนี้จึงครองความเป็นอมตะและเป็นเพลงยอดนิยมในดวงใจของคน ม.อ. มาโดยตลอดอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย
 

เทปและซีดีเพลงชุด
“ ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชชนก ”
              ส่วนผมเองนั้น มีความประทับใจกับเพลงนี้เป็นอย่างมาก  ดังนั้น ในการจัดทำเทปและซีดีเพลงชุด “ ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชชนก ”  เมื่อปี 2544   ผมจึงนำเพลง “ ยังไม่ลืมศรีตรัง ” กลับมาบันทึกเสียงใหม่   โดยคิดว่าน่าจะเปลี่ยนให้นักร้องหญิง เป็นผู้ขับร้องดูบ้าง
   
              ผมได้ปรึกษากับพี่พิมพ์ ซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานว่า อยากจะให้ “ รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส4 ” นักร้องระดับแผ่นเสียงทองคำ เป็นผู้บันทึกเสียงเพลงนี้ ซึ่งพี่พิมพ์ก็เห็นด้วย
              เพลงนี้ กว่าจะบันทึกเสียงได้ เวลาก็ล่วงเลยมาจนถึงวันสุดท้ายของการบันทึกเสียง เนื่องจากก่อนหน้านั้น คุณรุ่งฤดี ติดภารกิจ เดินทางไปร้องเพลงที่จังหวัดเชียงใหม่  เราจึงต้องรอจนกระทั่งคุณรุ่งฤดีเดินทางกลับ  เพลง “ ยังไม่ลืมศรีตรัง ”  จึงเป็นเพลงสุดท้ายในการบันทึก
เสียงครั้งนี้
              ในวันบันทึกเสียงที่ห้องบันทึกเสียง “ เจ้าพระยาสตูดิโอ ” การบันทึกเสียงได้ทำกันในช่วงหัวค่ำ คุณรุ่งฤดีได้เดินทางมาที่ห้องบันทึกเสียงในชุดนักร้อง เพราะหลังจากบันทึกเสียงเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณรุ่งฤดีจะต้องไปร้องเพลงต่อที่ห้องอาหารที่ร้องประจำในกรุงเทพฯ
              ก่อนที่จะมีการบันทึกเสียง ผมได้เล่าให้คุณรุ่งฤดีฟังว่า “ เพลงยังไม่ลืมศรีตรัง พี่ปื๊ดเคยบันทึกเสียงไว้เมื่อหลายปีก่อน และมีความไพเราะมาก สำหรับการนำมาบันทึกเสียงใหม่ครั้งนี้ ผมต้องการให้นักร้องหญิงเป็นผู้ขับร้อง และเพื่อให้ได้อารมณ์เพลงที่แตกต่างไปจากเดิม ”
   

รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส กำลังฟังเพลง “ ยังไม่ลืมศรีตรัง ”
ที่ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา เป็นผู้ขับร้อง
 
              คุณรุ่งฤดี ฟังผมพูดพร้อมกับพยักหน้า แล้วกล่าวว่า “ พี่จะร้องคนละแนวกับพี่ปื๊ด ”
 

รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส กำลังบันทึกเสียงเพลง “ ยังไม่ลืมศรีตรัง ”
ขวาสุด คือ พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน
 
              อย่างไรก็ตาม เพลง “ ยังไม่ลืมศรีตรัง ” ทั้ง 2 version ได้เดินทางผ่านกาลเวลามาเป็นเวลาหลายปี จะเห็นได้ว่า เพลง “ ยังไม่ลืมศรีตรัง ”  version ที่คุณรุ่งฤดี  แพ่งผ่องใส เป็นผู้ขับร้องนั้น  มีความไพเราะและลีลาเพลงแตกต่างกันออกไปจาก  version  ที่คุณทนงศักดิ์
ภักดีเทวา เป็นผู้ขับร้อง ส่วนความไพเราะในแต่ละ version จะมีมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้ฟังจะมีความนิยมชมชอบแนวใด

 

1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์มะเนาะ ยูเด็น
      อดีตคณบดีณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีผลงานบทกวีที่มีความไพเราะมากมาย ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว

   
2. อาจารย์ปราโมทย์ กระมุท
      อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เคยดำรงตำแหน่งรักษาการคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อปี  พ.ศ.  2540  โดย เคยเป็นผู้อำนวยการหอสมุดจอห์น  เอฟ  เคนเนดี้ิ ปี พ.ศ. 2532-2539 ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว
   
3. พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
      ครูเพลงนักเรียบเรียงเสียงประสานชื่อดังเจ้าของผลงานเพลงที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียง ทองคำพระราชทาน และรางวัลเสาอากาศทองคำมากมาย อาทิ


     เพลง “ ไทยธำรงไทย ”      ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2514
     เพลง “ น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ ”      ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2518
     เพลง “ ตะแลงแกงแทงใจ ”      ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2520
     เพลง “ พะวงรัก ”      ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2521
     เพลง “ สุดเหงา ”      ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2525

4. รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส
      อดีตนักร้องดาวรุ่งวงดนตรีสุนทราภรณ์ เจ้าของผลงานเพลง “ พัทยาลาก่อน ” มีเพลงที่สร้างชื่อเสียงในชีวิตการร้องเพลงมากมาย อาทิ เพลงเอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง เพลงแม่สอดสะอื้น เพลงคนหน้าเดิม เพลงช่างเขาเถิดนะหัวใจ เพลงหลานย่าโม เพลงแฟนซีชีวิต เพลงเธอคือดวงใจ เพลงแบ่งเวลาไปหาฉันบ้าง ฯลฯ

  ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 

ปัญหาข้อที่ 2 :
 
คำถาม :

พิพิธภัณฑ์ “ พระเทพญาณโมลี ” ตั้งอยู่ในวิทยาเขตใด

 
 
 
ก) วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี
ข) วิทยาเขตตรัง
ค) วิทยาเขตภูเก็ต
ง) วิทยาเขตปัตตานี
 
 
คำตอบ :

ง)  วิทยาเขตปัตตานี

 
 

เกร็ดความรู้

 
 
              พิพิธภัณฑ์พระเทพญาณโมลีตั้งอยู่ในวิทยาเขตปัตตานีเป็นอนุสรณ์สถานที่ก่อสร้างขึ้น เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน มีพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ และเป็นอนุสรณ์สถานครบสองทศวรรษในการสถาปนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อีกด้วย
 
 

 
 
              เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2529 ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาวางศิลาฤกษ์อาคารพิพิธภัณฑ์ โดยได้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2529 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2531
              พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้ทำพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2531 โดยมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีเปิดอาคาร
 
 
ฯพณฯ ท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานในพิธีเปิด
และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระเทพญาณโมลี
 
 
              พระธรรมโมลี (เกตุ ติสสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดตานีนรสโมสรพระอารามหลวง จังหวัดปัตตานี ซึ่งมรณภาพไปแล้วเมื่อปี 2540 ได้มอบโบราณวัตถุสมัยรัชกาลที่ 5 อีกจำนวน 26 ชิ้น ประกอบด้วยจาน ชาม คนโท ปิ่นโต และปั้นชา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2539
 
 
 
              “ อาตมาจะมอบวัตถุที่มีอยู่นี้ให้ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สร้างพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาไว้ เพราะจะมีประโยชน์มาก นักศึกษามีโอกาสได้เล่าเรียนค้นคว้ากัน   โดยเฉพาะทางภูมิศาสตร์   สังคมศาสตร์บ้าง  มนุษย-
ศาสตร์บ้าง   ขอให้ส่วนราชการได้ช่วยกันเผยแพร่สงวนรักษาไว้ให้ดีแล้วกัน ” เป็นประโยคที่พระธรรมโมลีได้กล่าวไว้  ครั้งได้มอบโบราณวัตถุให้
แก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์     เพื่อจัดพิพิธภัณฑ์พระเทพญาณโมลี
เมื่อปี  2529  ( จากหนังสือพิพิธภัณฑ์พระเทพญาณโมลี ศูนย์การศึกษา
เกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี )
 
 
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
 
 
1. ห้องเครื่องถ้วย  จัดแสดงเครื่องถ้วยลายคราม  เครื่องถ้วยลายน้ำทอง  เครื่องถ้วยเบญจรงค์และป้านชา  เป็นต้น
 
 
2. ห้องธนบัตรและเหรียญตรา เช่นธนบัตรไทยสมัยรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 8 เหรียญตะวันออกกลาง ที่มีอายุกว่าพันสองร้อยปี เป็นต้น
 
3. ห้องพระเทพญาณโมลี  มีศิลปวัตถุและโบราณวัตถุ เช่น เครื่องอัฐบริขาร พระพุทธรูป พระพิมพ์ พระเครื่อง และเทวรูป เป็นต้น
 

เอื้อเฟื้อภาพและข้อมูลโดย... พิพิธภัณฑ์พระเทพญาณโมลี ม.อ.ปัตตานี
ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย...อ.มนัส กันตวิรุฒ



ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ แผนที่

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน