เฉลยปัญหาประจำเดือนธันวาคม 2564

 

ปัญหาข้อที่ 1 :

พระราชาที่ย่ำอยู่กลางป่าเขา
คล้องกล้องถ่ายรูปอันเก่า
ในมือพ่อถือแผนที่
สี่พันโครงการ พ่อทำมานานกว่า 70 ปี
หากยังอยู่วันนี้ พ่อคงทำงานต่อ

คำถาม     : อยากทราบว่า เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร คลิกฟังเพลง

คำตอบ     : เพลง “รักพ่อไม่มีวันพอเพียง” ฟังเพลงเต็มเพลง

เกร็ดความรู้

รวมพลังเสียงร้องจากหัวใจ ถวายพ่อหลวงของแผ่นดิน บทเพลงที่กลั่นออกมาจากหัวใจ ร้อยเรียงคำร้องเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย พ่อซึ่งดูแลลูกมายาวนานตลอด 70 ปี โดยไม่มีวันหยุด โดยได้นักแต่งเพลงมือฉมัง “บั๋ง สุทธิพงษ์ สมบัติจินดา” หยิบยกตัวอย่างความดีและคำสอนของพ่อ มาแต่งเป็นบทเพลงอันมีค่า ใช้ภาษาธรรมดาที่เข้าใจง่าย และตรงกับความรู้สึกของคนไทยทุกเหล่า

ขอขอบคุณข้อมูลจาก.. https://www.youtube.com/RS FRIENDS
ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย..อ.มนัส กันตวิรุฒ

ปัญหาข้อที่ 2 :

มหาวิทยาลัยนี้..ต้องคงอยู่ เป็นคู่ขวัญ..พวกเราชาวสยาม
จะเคารพ..รักเกียรติของพระนาม
จะเทิดทูน..สุดความมั่นภักดี
จะลำบากอย่างไร..ไม่ทดท้อ
จะตรากตำ..นั้นก็ไม่หน่ายหนี
ขอ..สงขลานครินทร์ อยู่คู่ธรณี
เด่นเป็นศรีของไทย..สืบไปเทอญ
คำถาม     : อยากทราบว่า ใครเป็นผู้ประพันธ์บทกวีชิ้นนี้

คำใบ้     :
ผู้ประพันธ์บทกวีชิ้นนี้ เป็นอดีตคณบดีคนแรกของของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

คำตอบ     :
รองศาสตราจารย์ ดร.ประดิษฐ เชยจิตร

เกร็ดความรู้

รองศาสตราจารย์ ดร.ประดิษฐ เชยจิตร (ตำแหน่งขณะนั้น) คณบดีคนแรก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยในยุคแรกเริ่ม ได้ประพันธ์บทกวี ชื่อ “พระนาม..สงขลานครินทร์” ซึ่งประพันธ์ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2511 และถูกนำมาตีพิมพ์ในหนังสือ 30 ปี คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ในปี พ.ศ. 2540 เป็นบทกวีที่มีความหมายลึกซึ้งกินใจมาก โดยมีเนื้อหาฉบับเต็ม ดังนี้

หมายเหตุ** บทกวีชิ้นนี้ คงไว้ทั้ง..ตัวสะกดการันต์โดย..เพื่อให้เป็นไปตามต้นฉบับเดิมทั้งหมด

ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย..อ.มนัส กันตวิรุฒ

เฉลยปัญหาประจำเดือนตุลาคม 2564

 

ปัญหาข้อที่ 1 :

คำถาม     : อยากทราบว่า อักษรย่อของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เขียนไม่ถูกต้อง อยู่ในช่องใด (ตัวเลขสีแดง คือ หมายเลขช่อง)

คำใบ้     : อักษรย่อของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ถูกต้อง คือ ม.อ.

คำตอบ     : ช่องที่ 49

เกร็ดความรู้

อักษรย่อของทุกมหาวิทยาลัยย่อมมีความหมายในตัวเอง ตัวอย่างเช่น
มข. (ม ย่อมาจาก มหาวิทยาลัย ข ย่อมาจาก ขอนแก่น)
มช. (ม ย่อมาจาก มหาวิทยาลัย ช ย่อมาจาก เชียงใหม่)

อักษรย่อของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น เพราะเราใช้อักษรย่อ ม.อ. ซึ่งเป็นอักษรย่อพระนามเดิมของสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช มาเป็นอักษรย่อของมหาวิทยาลัย ม คือ มหิดล อ คือ อดุลเดช ซึ่งอักษรย่อ ม.อ. นี้ปรากฏอยู่ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๘๖ ตอนที่ ๘๙ หน้า ๘๙๕

 

ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย..อ.มนัส กันตวิรุฒ

ปัญหาข้อที่ 2 :

คำถาม     :
พระตำหนักดอยตุงตั้งอยู่ที่จังหวัดใด

คำตอบ     :
จังหวัดเชียงราย

เกร็ดความรู้

พระตำหนักดอยตุง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๗ บ้านมูเซอลาบา ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๓๐ เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนนี มีพระชนมายุ ๘๘ พรรษา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาดอยตุง

สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงสร้างพระตำหนักดอยตุง ขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในพื้นที่ขอเช่าจากกรมป่าไม้ เป็นเวลา ๓๐ ปี บริเวณบ้านอีก้อป่ากล้วยเนื้อที่ ๒๙ ไร่ ๓ งาน มีความสูงกว่าน้ำทะเลปานกลาง ๑,๐๐๐ เมตร ทัศนียภาพที่และเห็นจากด้านหน้างดงามด้วยเทือกเขานางนอน และทุ่งราบระหว่างอำเภอแม่สายกับแม่จันดูเวิ้งว้างสุดสายตา ละม้ายกับภูมทัศน์ที่มองเห็นจากพระตำหนักที่ประทับเมืองโลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ทรงเรียกพระตำหนักนี้ว่า “บ้านที่ดอยตุง” และรับสั่งว่า “ถ้าไม่มีโครงการพัฒนาดอยตุง ก็ไม่มาสร้างที่นี่ ไม่มาอยู่ที่นี่” ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่ตำหนักดอยตุงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ การมรงงานเพื่อพลิกฟื้นคืนสภาพป่าของดอยตุงก็เริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ..สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จย่าของแผ่นดิน
สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์เผยแพร่ พุทธศักราช ๒๕๓๙
ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย..อ.มนัส กันตวิรุฒ

เฉลยปัญหาประจำเดือนพฤศจิกายน 2564

 

ปัญหาข้อที่ 1 :

คำถาม     : วันที่ 9 พฤศจิกายน 2511 นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งฝากเรียนอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรุงเทพฯ ก็เป็นคณะแรกที่ย้ายลงสู่ภาคใต้ มาประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์ปัตตานี อยากทราบว่าอธิการบดีที่มารอต้อนรับและให้โอวาทนักศึกษาที่ศูนย์ปัตตานี ในวันนั้น มีชื่อว่าอะไร

คำใบ้     : วันที่ 9 พฤศจิกายน ของทุกปี คือ วันรูสะมิแล

คำตอบ     : พันเอกถนัด คอมันตร์

เกร็ดความรู้

ในปี พ.ศ. 2511 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เปิดรับนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ขึ้นเป็นคณะที่สอง โดยอาศัยอาคารเรียนของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ (เดิม) มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ข้างโรงพยาบาลสงฆ์ ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร

ต่อมาเมื่อการก่อสร้างที่ปัตตานีแล้วเสร็จบางส่วน ในภาคการศึกษาที่ 2 ของปี พ.ศ. 2511 คณะอาจารย์และนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ก็ได้เป็นคณะแรกที่ย้ายลงสู่ภาคใต้ มาประจำที่ศูนย์ปัตตานี ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2511 ได้ออกเดินทางจากสถานีรถไฟหัวลำโพง ไปยังจังหวัดปัตตานี จนกระทั่ง วันที่ 9 พฤศจิกายน นักศึกษาและอาจารย์ได้เดินทางมาถึงสถานีรถไฟโคกโพธิ์

จากนั้นทหารจากค่ายอิงคยุทธ ก็ได้มาช่วยนำนักศึกษาขึ้นรถทหารไปส่งที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์ปัตตานี โดยมี ฯพณฯ พ.อ. ถนัด คอมันตร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในขณะนั้น มาคอยต้อนรับและให้โอวาท

ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย..อ.มนัส กันตวิรุฒ

ปัญหาข้อที่ 2 :


คำถาม     :
ภาพที่ท่านเห็นอยู่นี้ เป็นภาพของอาคารใด ในวิทยาเขตหาดใหญ่

คำใบ้    :
อาคารหลังนี้ปัจจุบันได้ทำการตกแต่งปรับปรุงใหม่ เพื่อใช้เป็นอาคารหอประวัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

คำตอบ     :
อาคารหอสมุดคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร

เกร็ดความรู้

อาคารหอสมุดคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทรตั้งอยู่ตรงข้ามอาคารโรงยิมเนเซียมภายในบริเวณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2521

ต่อมาหอสมุดคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร ได้ย้ายจากอาคารเดิมไปอยู่ที่ ศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ (Learning Resources Center ) ซึ่งเป็นอาคารสร้างใหม่ตั้งอยู่ที่บริเวณด้านหลังตึกฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2555 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร

หอประวัติจึงได้ใช้พื้นที่อาคาร 3 ชั้นของ หอสมุดคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร (หลังเดิม) เป็นสถานที่ดำเนินการในเวลาต่อมา

ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย..อ.มนัส กันตวิรุฒ

เฉลยปัญหาประจำเดือนกันยายน 2564

 

ปัญหาข้อที่ 1 :

คำถาม     : อยากทราบว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงมีพระราชโอรส และพระราชธิดา รวมทั้งหมดกี่พระองค์ และมีพระนามว่าอะไรบ้าง

คำตอบ     : มีทั้งหมด 3 พระองค์

1.สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

2.พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

3.พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

เกร็ดความรู้

สมเด็จพระบรมราชชนกได้อภิเษกสมรสกับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) และเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2463 มีพระราชโอรส และพระราชธิดารวม 3 พระองค์ ดังนี้

1.สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

2.พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

3.พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

 

ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย..อ.มนัส กันตวิรุฒ

ปัญหาข้อที่ 2 :

คำถาม     : ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 48 ประจำปีการศึกษา 2561 เมื่อวันที่ 7 – 9 กันยายน 2562 สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีมติขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านใด แด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

คำตอบ     :
ปริญญาศิลปกรรมศาสตร ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

เกร็ดความรู้

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 48 ประจำปีการศึกษา 2561 เมื่อวันที่ 7 – 9 กันยายน 2562 สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีมติขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย..อ.มนัส กันตวิรุฒ

เฉลยปัญหาประจำเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2564

 

ปัญหาข้อที่ 1 :

คำถาม     : อยากทราบว่า ใครเป็นผู้ประพันธ์คำร้องเพลงเขตรั้วสีบลู ซึ่งเป็นเพลงหนึ่งในเพลงประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

คำใบ้     : ค้นหาคำตอบที่ถูกต้องได้จาก เว็บไซต์หอประวัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

คำตอบ     : พร พิรุณ

เกร็ดความรู้

เพลงเขตรั้วสีบลู เป็นเพลงที่จัดทำขึ้นในยุคที่ 1 ของการจัดทำเพลงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อปี พ.ศ.2513 ซึ่งเป็นยุคเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย เพลงนี้ประพันธ์คำร้องโดยพร พิรุณ โดยมีครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง บรรเลงโดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ เป็นเพลงหนึ่งที่มีความไพเราะ และเนื้อหาที่ลึกซึ้งกินใจ

พร พิรุณ ได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์เพลงสากล) ประจำปีพุทธศักราช 2561

ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย..อ.มนัส กันตวิรุฒ

ปัญหาข้อที่ 2 :

คำถาม     : อยากทราบว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ใช้สถานที่ใดเป็น โรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19

คำตอบ     :
SPORT COMPLEX มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต

เกร็ดความรู้

จากสถานการณ์จังหวัดภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นและมีผู้รอผลตรวจอีกจำนวนมาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และโรงพยาบาลวิชระภูเก็ต ได้เตรียมโรงพยาบาลสนามจังหวัดภูเก็ตซึ่งตั้งอยู่ภายในอาคาร SPORT COMPLEX มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เปิดรับผู้ป่วยโควิด 19 ระลอกปัจจุบัน ที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง



ขอบคุณภาพ และข้อมูลจาก.. https://www.phuket.psu.ac.th
ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย..อ.มนัส กันตวิรุฒ

ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ แผนที่

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน