เฉลยปัญหาประจำเดือนตุลาคม 2565

 

ปัญหาข้อที่ 1 :    
     
คำถาม     :   ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2512 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งหน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ในพระองค์ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรก พระราชทานนามว่า “แพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนี” อยากทราบว่ามีอักษรย่อว่าอะไร
     
คำตอบ     :   พอ.สว.

เกร็ดความรู้

        เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จประพาสหัวเมืองเยี่ยมพสกนิกร และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ในท้องถิ่นกันดารทั่วประเทศ นับแต่ พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา ทำให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นความทุกขเวทนาของราษฎรตามสถานที่เหล่านั้นในยามเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยพระองค์เอง ทรงพบว่าราษฎรส่วนใหญ่มักเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคพยาธิ โรคผิวหนัง ไข้ป่า ซึ่งเป็นโรคพื้นฐานทั่วไป แต่มักเสียชีวิตเพราะไม่มีบริการทางการแพทย์ในถิ่นทุรกันดาร

        ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2512 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งหน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ในพระองค์ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรก พระราชทานนามว่า “แพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนี” มีอักษรย่อว่า พอ.สว. หน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ พอ.สว.นี้ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และสมาชิกสมทบอีกคณะหนึ่งซึ่งล้วนเป็นอาสาสมัครที่ไม่ได้รับสิ่งตอบแทนเป็นเบี้ยเลี้ยงหรือเงินเดือน เดินทางไปปฏิบัติงานในถิ่นทุรกันดารในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ โดยรถยนต์ เรือ หรือเฮลิคอปเตอร์ เป็นการประจำเพื่อตรวจรักษาราษฎรที่เจ็บไข้ได้ป่วย และแนะนำให้ความรู้เรื่องการอยู่อย่างถูกสุขลักษณะแก่ประชาชนทั่วไป

        สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงรับพระราชภาระในด้านหยูกยา เครื่องใช้ ตลอดจนพาหนะสำหรับใช้ในการเดินทาง และยังพระราชทานเงินเป็นค่าอาหารกลางวันสำหรับคณะที่เดินทางไปปฏิบัติงานทุกคน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทุกอย่าง

        สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเอาพระทัยใส่ติดตามการปฏิบัติงานของ พอ.สว. อย่างใกล้ชิด พระราชทานคำแนะนำ พระราชวินิจฉัยในการปฏิบัติงานแก่แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทำให้สามารถแก้ไขปัญหาและสร้างเสริมขวัญและกำลังใจแก่บรรดาผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่เป็นนิจ คราวใดที่เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทอดพระเนตรการปฏิบัติงานของหน่วยงานแพทย์อาสา พอ.สว. ก็จะช่วยนับยาจ่ายยาและพระราชทานคำแนะนำแก่ผู้ป่วยด้วยพระองค์เอง หากทรงพบผู้เจ็บไข้เกินกำลังแพทย์อาสาจะบำบัด ก็โปรดเกล้าฯ ให้ส่งไปรับการรักษาในโรงพยาบาล และทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์จำนวนมาก


(อ้างอิงจาก หนังสือ เรื่อง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จย่าของแผ่นดิน จัดพิมพ์โดย คณะกรรมการเฉพาะกิจจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2539)

ขอขอบคุณ..คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย..อ.มนัส กันตวิรุฒ

ปัญหาข้อที่ 2 :    
     
คำถาม     :   คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. ร่วมกับ จังหวัดสงขลา หน่วยงานรัฐ และเอกชน สร้างพลังศรัทธา “พาป๋าหลบบ้าน” รับอัฐิ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธาน องคมนตรีและรัฐบุรุษ จากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรุงเทพ กลับสู่ จังหวัดสงขลา โดยเครื่องบินกองทัพอากาศและทำการเคลื่อนขบวนอัฐิโดยรถบุษบก ในวันที่ 19 สิงหาคม 2565 มาที่อาคารใดของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
     
คำตอบ     :   อาคารเฉลิมพระบารมี โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

 

  

เกร็ดความรู้

        คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. ร่วมกับ จังหวัดสงขลา หน่วยงานรัฐ และเอกชน สร้างพลังศรัทธา “พาป๋าหลบบ้าน” รับอัฐิ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ จากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรุงเทพ กลับสู่จังหวัดสงขลา โดยเครื่องบินกองทัพอากาศ เคลื่อนขบวนอัฐิโดยรถบุษบก มาที่ อาคารเฉลิมพระบารมี ชั้น 1 โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ตรงข้ามวิหารหลวงปู่ทวด และประกอบพิธีสวดพระอภิธรรมอัฐิ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าเคารพอัฐิ ในวันที่ 20 สิงหาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 08.30 – 20.00 น.


        ในวันที่ 21 สิงหาคม 2565 ได้มีการเคลื่อนขบวนรถเชิญอัฐิ พร้อมนักวิ่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 99 ท่าน ไปยังสวนประวัติศาสตร์ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ สงขลา

        สำหรับพิธีบรรจุอัฐิ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้จัดขึ้นในวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ณ สวนประวัติศาสตร์ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วยนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดสงขลา และประชาชนเข้าร่วมพิธีอย่างเนืองแน่น


ขอขอบคุณ..คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสวท.สงขลา กรมประชาสัมพันธ์ เอื้อเฟื้อภาพและข้อมูล
ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย..อ.มนัส กันตวิรุฒ

ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ แผนที่

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน