เฉลยปัญหาประจำเดือน ตุลาคม 2550

ปัญหาข้อที่ 1 :  
   
คำถาม      : : “รำวงกันเถิดนะ...ชาวเรา      จะมัวเฉยซึมเซา เหงาอยู่ทำไม
เราชาวสงขลานครินทร์มีสุข       มาร่วมสนุก มาซิจะทุกข์อยู่ใย”
   
  เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร และใครเป็นผู้ขับร้อง
   
คำตอบ      : ชื่อเพลง “รำวงน้องก็อีกราย” ขับร้องโดย เลิศ ประสมทรัพย์ - ศรีสุดา รัชตะวรรณ (ร้องนำหมู่)
{audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song50/รำวงน้องก็อีกราย.mp3{/audio}

เกร็ดความรู้

               เพลง “รำวงน้องก็อีกราย” เป็นเพลงเพียงเพลงเดียวของเพลงประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่เป็นจังหวะรำวง เมื่อใดก็ตามที่ได้ยินเพลงนี้ ความสนุกสนานครึกครื้นก็จะเข้ามาแทนที่ ความเงียบเหงาซืมเศร้าก็จะจางหายไป เพลงนี้จึงนิยมใช้เป็นเพลงเปิดฟลอร์ เมื่อมีงานสำคัญของมหาวิทยาลัย เช่นงานสังสรรค์เนื่องในโอกาสต่างๆ เป็นต้น
               เพลงนี้ เป็น 1 ใน 4 เพลงที่เกิดขึ้นในยุคเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งวงดนตรีสุนทราภรณ์เป็นผู้ประพันธ์และบรรเลงให้ โดยเพลงทั้ง 4 เพลงนี้ทำออกมาจำหน่ายในรูปแบบแผ่นเสียง ความเร็ว 45 RPM ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.2527 เมื่อสมาคมนักศึกษาเก่า ม.อ. จัดทำเพลงมหาวิทยาลัยขึ้นมาใหม่ ในรูปแบบเทปคาสเซ็ท และใช้ชื่อชุดว่า “มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” ก็ได้นำทั้ง 4 เพลงดั้งเดิมมารวมเอาไว้ด้วย แม้กระทั่งการจัดทำครั้งล่าสุด เมื่อปี พ.ศ.2544 ที่คณะวิทยาศาสตร์ จัดทำขึ้นมาใหม่ในรูปแบบซีดีและเทปคาสเซ็ท โดยใช้ชื่อชุดว่า “ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชชนก” ก็ยังมีเพลงดั้งเดิมทั้ง 4 เพลงรวมอยู่ในชุดนี้ด้วย
               เพลง “รำวงน้องก็อีกราย” ผู้ประพันธ์คำร้อง คือ คุณพร พิรุณ1 ผู้ประพันธ์ทำนอง คือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน2 โดยมี คุณเลิศ ประสมทรัพย์3 และ คุณศรีสุดา รัชตะวรรณ4 ขับร้องนำหมู่

1. พร พิรุณ
               ผู้ประพันธ์คำร้องอีกท่านหนึ่งประจำวงสุนทราภรณ์ เป็นเจ้าของผลงานเพลงขอให้เหมือนเดิม, เพลงรอยมลทิน, เพลงใครก็ได้ถ้ารักฉันจริง, เพลงผิดด้วยหรือถ้าเราจะรักกัน, เพลงกว่าจะรักกันได้, เพลงหาดผาแดง ฯลฯ และได้รับแผ่นเสียงทองคำพระราชทานในปี 2503 จากเพลงขอปันรัก           
2.ครูเอื้อ สุนทรสนาน
               อดีตหัวหน้าวงสุนทราภรณ์ ผู้ประพันธ์คำร้องและผู้ขับร้องเพลงที่มีความไพเราะมากมาย อาทิ ขอให้เหมือนเดิม นางฟ้าจำแลง นวลปรางนางหมอง กังหันต้องลม ขอพบในฝัน ฯลฯ
3. เลิศ ประสมทรัพย์
               เป็นนักร้องที่อยู่กับวงสุนทราภรณ์มาเป็นระยะเวลายาวนาน เลิศเป็นนักร้องชายที่มีชื่อเสียงมาก เป็นที่รู้จักกันในแนวเพลงตลก ร้องคู่กับศรีสุดา รัชตะวรรณ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวงสุนทราภรณ์
               เพลงที่ส่งให้เลิศมีชื่อเสียงมาก คือเพลง “ข้างขึ้นเดือนหงาย” และเพลง “ชมนาง” แต่เพลงที่ผู้ฟังนิยมชมชอบ คือเพลงจังหวะเร็ว ซึ่งแทรกความตลกไว้ในเพลง เช่น เพลงในจังหวะตะลุง และเพลงที่สร้างความสนุกสนานให้กับผู้ชมในระหว่างการบรรเลง ได้แก่ เพลง “จุดไต้ตำตอ” และ “สาวหนุ่มบ้านแต้” ที่ร้องคู่กับศรีสุดา รัชตะวรรณ ปัจจุบันคุณเลิศได้เสียชีวิตไปแล้ว
4. ศรีสุดา รัชตะวรรณ
               เป็นนักร้องหญิงประจำวงสุนทราภรณ์อีกคนหนึ่งที่เสียงดีมาก เสียงสูง ใส และกังวาน เป็นเอกลักษณ์ จนมีผู้ตั้งฉายาไว้หลากหลาย เป็นนักร้องหญิงที่ฉีกแนวจากการร้องเพลงรัก หวานๆ ช้าๆ มาเป็นแนวสนุกสนาน เร้าใจ
               ผลงานที่สร้างชื่อให้แก่ศรีสุดามีมากมายนับไม่ถ้วน ส่วนใหญ่เป็นเพลงคู่ที่ร้องกับเลิศ ประสมทรัพย์ เช่น มองอะไร, สุขกันเถอะเรา, ฝนจ๋าฝน, ศรรัก, แมวกะหนู, บ้านเรือนเคียงกัน, ปากกับใจ และเพลงอื่นๆ อีกไม่ต่ำกว่า 300 เพลง รวมถึงเพลงจังหวะรำวง ตะลุง มาร์ช และเพลงสถาบันต่างๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน

ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 
ปัญหาข้อที่ 2 : 
   
คำถาม     : ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดทำการครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.ใด (กรุณาตอบเป็นตัวเลขปี พ.ศ.)
   
คำตอบ     : ข) พ.ศ. 2522
   

เกร็ดความรู้

               ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นับเป็นสาขาที่ 108 ได้เปิดทำการเป็นครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2522 โดยมีรองศาสตราจารย์นายแพทย์ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในสมัยนั้น เป็นประธานในพิธีเปิดที่ทำการของธนาคาร


รศ.นพ.ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์
กำลังทำพิธีเปิดแพรคุลมป้ายชื่อธนาคาร

              สถานที่ตั้งของธนาคารไทยพาณิชย์ สาขามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในช่วงเริ่มต้น มีที่ทำการชั่วคราวอยู่ที่บริเวณลานชั้นล่างของอาคารศูนย์ปาฐกถาประดิษฐ เชยจิตร (ตึกฟักทอง) ซึ่งปัจจุบัน คือที่ทำการของภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


นายจอม เพชรรัตน์ (สวมเสื้อสีขาวด้านซ้าย) ผู้จัดการคนแรกของธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา ม.อ. กำลังคุยกับนายบุญเลิศ โรจนลักษณ์ (ด้านขวา) นายอำเภอหาดใหญ่ ในวันเปิดที่ทำการธนาคาร เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2522
 
ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบุคลากร ม.อ. กำลังเปิดบัญชีในวันเปิดที่ทำการธนาคาร

ผศ.เอื้อมชม เรืองกุล
               ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีผู้จัดการคนแรกคือ นายจอม เพชรรัตน์ สำหรับบัญชีออมทรัพย์บัญชีแรก เลขที่บัญชี 565-2-00001-6 ผู้เปิดบัญชีคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอื้อมชม เรืองกุล อดีตอาจารย์สังกัดภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ปัจจุบันได้ลาออกจากราชการแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2543

               ต่อมา ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา ม.อ. ได้สร้างที่ทำการถาวรขึ้นใหม่ ในบริเวณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นอาคาร 2 ชั้น เมื่ออาคารเสร็จแล้ว ได้ย้ายมาเปิดดำเนินการ ณ อาคารหลังใหม่ เมื่อวันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527

               ปัจจุบัน กิจการของธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา ม.อ. เจริญก้าวหน้าเรื่อยมาโดยลำดับมีจำนวนบัญชี ทั้งสิ้น 134,562 บัญชี (สำรวจเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2550) ภายใต้การบริหารงานของผู้จัดการคนปัจจุบัน คือ คุณสมชาย วิทวัสการเวช

ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ
เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย ธ.ไทยพาณิชย์ สาขา ม.อ.

ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ แผนที่

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน