เฉลยปัญหาประจำเดือน กันยายน 2551

ปัญหาข้อที่ 1 :  
   
คำถาม      : “ก่อนจากกันไป สัญญาด้วยใจน้องพี่ ดินแดนแห่งนี้ ที่มีพระคุณยิ่งใหญ่ สงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัย แหล่งที่อาศัย ร่ำเรียนวิชาเพิ่มพูน”
เพลง “อำลา-อาลัย” ใครเป็นผู้ขับร้อง
          ก) มาช่า วัฒนพานิช
          ข) นัท มีเรีย
          ค) เสาวลักษณ์ ลีละบุตร (แอม)
          ง) ทิพวัลย์ ปิ่นภิบาล
   
คำตอบ      : ง) ทิพวัลย์ ปิ่นภิบาล
{audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song51/Music-Q-full-mp3.mp3{/audio}

เกร็ดความรู้

              ปี พ.ศ. 2517 เป็นปีที่ผมเริ่มมาทำงานที่ ม.อ. เพลงประจำมหาวิทยาลัยในขณะนั้น มีเพียงแค่ 4 เพลงคือ เขตรั้วสีบลู, สงขลานครินทร์, ถิ่นศรีตรัง และรำวงน้องก็อีกราย
              สิ่งที่ทำให้ผมแปลกใจก็คือ ในบรรดา 4 เพลงเหล่านี้ ไม่มีเพลงลาแม้แต่เพลงเดียว
              ทั้งๆ ที่...แทบทุกสถาบัน ต่างมีเพลงลาเป็นของตนเองทั้งนั้น
              ผมเคยมีความซาบซึ้งกับเพลง “ลาแล้วจามจุรี” ซึ่งเป็นเพลงลาของจุฬาฯ มาแล้ว
              ทุกครั้งที่ได้ฟังจะเกิดอารมณ์คล้อยตาม มีความรู้สึกที่ดื่มด่ำ ตื้นตันใจ น้ำตาจะซึมไหลออกมาอย่างไม่รู้ตัว ถึงแม้ว่าจะไม่เคยเรียนที่สถาบันนั้นมาเลยก็ตาม 
               เพลง “อาลัยโดม” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อฟังแล้วก็ให้ความรู้สึกที่ไม่แตกต่างกัน
              ช่วงเวลานั้น มหาวิทยาลัยของรัฐในส่วนภูมิภาค มีเพียงแค่ 3 แห่งคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 
               มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่างมีเพลงลาเป็นของตนเองแล้ว ทั้งๆ ที่ 2 มหาวิทยาลัยนี้ เกิดก่อนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ไม่นาน
               เพลงลาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ “ลาแล้วเวียงขวัญ”
               ส่วนเพลงลาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ “ลาแล้วขอนแก่น”
               ซึ่งทั้ง 2 เพลงนี้มีความไพเราะไม่แพ้กัน


“เพลงลา... นอกจากจะเป็นสิ่งที่ช่วยย้ำเตือนให้รำลึกถึงบรรยากาศของความหลัง
เมื่อครั้งได้มาศึกษาเล่าเรียนแล้ว ยังก่อให้เกิดความรัก ความผูกพัน และความภาคภูมิใจ
ในสถาบันได้เป็นอย่างดีอีกด้วย”

 

               ผมจึงได้ตั้งใจเอาไว้ว่า ถ้ามีโอกาสเมื่อใด จะพยายามผลักดันให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีเพลงลาเป็นของตนเองให้จงได้
              จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2527 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสาท มีแต้ม นายกสมาคมนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ในขณะนั้น ได้มาขอให้ผมช่วยเป็นผู้ประสานงานการจัดทำเทปเพลงชุด “มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง”
              มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงมีเพลงลาเป็นของตนเอง เพลงแรกคือ เพลง “แดนสรวง” ขับร้องโดย คุณรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ซึ่งผมเคยนำมาเขียนเล่า
เป็นเกร็ดความรู้ ในเฉลยปัญหาประจำเดือนกันยายน 2550 และเพลงลาของ ม.อ. เพลงที่สองคือ เพลง “ยังไม่ลืมศรีตรัง” ขับร้องโดย คุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวา
             ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 ผมได้รับมอบหมายจากคณะวิทยาศาสตร์ ให้เป็นผู้ประสานงานการจัดทำเพลงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อีกครั้งหนึ่ง ในชุด “ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชชนก”
             ช่วงเวลานี้ ม.อ. มีถึง 5 วิทยาเขต ผมจึงคิดว่า ม.อ. น่าจะมีเพลงลา เพิ่มขึ้นมาอีกสักหนึ่งเพลง
             ผมจึงได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษาหารือกับพี่พิมพ์ (พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์1) ซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงชุดนี้ ในที่สุด พี่พิมพ์ก็รับที่จะเป็นผู้แต่งทั้งเนื้อร้องและทำนองให้ด้วยตนเอง
             เพลง “อำลา-อาลัย” จึงเกิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้น
             ผมและพี่พิมพ์ได้เลือกเฟ้นหาตัวนักร้องที่จะมาขับร้องเพลงๆ นี้ ในที่สุด ก็มาลงตัวที่คุณ “ทิพวัลย์ ปิ่นภิบาล2



คุณทิพวัลย์ ปิ่นภิบาล กำลังซ้อมเพลง “อำลา-อาลัย”
กับคุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
  
คุณทิพวัลย์ ปิ่นภิบาล ในห้องบันทึกเสียง
“เจ้าพระยาสตูดิโอ” เมื่อปี พ.ศ. 2544


นักร้องประสานเสียงกรมศิลปากรในเพลง “อำลา-อาลัย”
โดยมีคุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ ดูแลและควบคุมอย่างใกล้ชิด  

               ด้วยเนื้อร้องที่มีความคมคาย และเสียงอันมีเสน่ห์ชวนฟังของคุณ “ทิพวัลย์ ปิ่นภิบาล” สอดรับกับลีลาในการประสานเสียงของนักร้องประสานเสียง กรมศิลปากร จึงทำให้เพลง “อำลา-อาลัย” เป็นเพลงลาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มีความไพเราะไปอีกแบบหนึ่ง และจะดำรงความเป็นอมตะเช่นนี้ไปอีกนานเท่านาน



1. พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
               ครูเพลง นักเรียบเรียงเสียงประสานชื่อดัง เจ้าของผลงานเพลงที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน และรางวัลเสาอากาศทองคำมากมาย อาทิ
                              เพลง “ไทยธำรงไทย”                  ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2514
                              เพลง “น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ”       ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2518
                              เพลง “ตะแลงแกงแทงใจ”             ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2520
                              เพลง “พะวงรัก”                       ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2521
                              เพลง “สุดเหงา”                       ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2525

 

2. ทิพวัลย์ ปิ่นภิบาล
   นักร้องคุณภาพ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากหลายสถาบัน อาทิ
          - รางวัลนักร้องสมัครเล่น ชนะเลิศแห่งประเทศไทย จัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยทีวีสีช่อง 3 พ.ศ. 2519 ชื่อเพลง Till
          - รางวัลนักร้องยอดเยี่ยมหญิง แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ปี พ.ศ. 2525 จากเพลง “สุดเหงา”
          - รางวัลดาวรุ่งลูกกรุงหญิง แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ปี พ.ศ. 2525 จากเพลง “ดอกไม้ช่อนี้”
          - นักร้องยอดเยี่ยมรางวัลกรังปรีซ์ ในการประกวดเพลงไทยป๊อป โดยมูลนิธิสยามกลการมิวสิค ฟาวน์เดชั่น ปี พ.ศ. 2526 จากเพลง “ไฟ”
          - รางวัลพระพิฆเนศทอง พระราชทาน ปี พ.ศ. 2528 จำนวน 2 รางวัล คือ ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลอมตะหญิงยอดเยี่ยม จากเพลง “น้ำเซาะทราย” และ ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิงยอดเยี่ยม จากเพลงใหม่ “อัสดง”
เพลงที่ได้รับความนิยม ได้แก่ เพลงจงรัก, รักริษยา, ฉันรู้...แต่ฉันรัก, ผู้ครองรัก, ในฝัน ฯลฯ

ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 
ปัญหาข้อที่ 2 : 
   
คำถาม     : วันมหิดล ตรงกับวันที่เท่าไร เดือนอะไร
   
คำตอบ     : วันที่ 24 เดือน กันยายน
   

เกร็ดความรู้

                วันมหิดล ตรงกับวันที่ 24 กันยายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันทิวงคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (กรมหลวงสงขลานครินทร์) พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย พระองค์ทรงประสูติเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2434 และทรงทิวงคต เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472
                เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจที่มีประโยชน์ต่อวงการแพทย์ และการสาธารณสุขอย่างมากมายมหาศาล เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2494 จึงได้มีประกาศอย่างเป็นทางการให้วันที่ 24 กันยายน เป็นวันมหิดล
                ในปี พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยภาคใต้ว่า “สงขลานครินทร์” ดังนั้น มหาวิทยาลัยฯ จึงถือว่า วันที่ 24 กันยายน ซึ่งเป็นวันมหิดล เป็นวันสำคัญของมหาวิทยาลัย โดยได้มีการจัดกิจกรรมขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน
                สำหรับกิจกรรมหลักๆ ได้แก่ พิธีวางพวงมาลาของแต่ละคณะและหน่วยงานในมหาวิทยาลัย



วันมหิดล เมื่อปี พ.ศ. 2511 นักศึกษา ม.อ. ไปร่วมพิธีถวายบังคม
ณ โรงพยาบาลศิริราช สมัยฝากเรียนที่กรุงเทพฯ (ภาพโดย ศิริพงศ์ ละออสุวรรณ)

วันมหิดล เมื่อปี พ.ศ. 2512 นักศึกษา ม.อ. ไปร่วมพิธีถวายบังคม
ณ โรงพยาบาลสงขลา (ภาพโดย ศิริพงศ์ ละออสุวรรณ)



วันมหิดล เมื่อปี พ.ศ. 2517 อาจารย์ ข้าราชการ นักศึกษา ม.อ. นำพวงมาลา
ไปร่วมพิธีถวายบังคม ณ โรงพยาบาลสงขลา (ภาพโดย จงดี ขุนราฃ)

 

ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย...อ.มนัส กันตวิรุฒ

ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ แผนที่

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน