เฉลยปัญหาประจำเดือน กันยายน 2550

ปัญหาข้อที่ 1 :  
   
คำถาม      : “แดนศึกษา...สงขลานครินทร์     ทั่วทุกถิ่นข้ามฟ้ามาสิงขร
ต่างมาร่วมชีวันนิรันดร              เพื่อขจรนามพระองค์ดำรงไทย”
   
  เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร และใครเป็นผู้ขับร้อง
   
คำตอบ      : ชื่อเพลง “แดนสรวง” ขับร้องโดย คุณรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส
{audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song50/แดนสรวงเต็ม.mp3{/audio}

เกร็ดความรู้

               จากการติดตามค้นหาข้อมูล ทราบว่า เพลง “แดนสรวง” แต่งโดยอดีตนักศึกษา รุ่นที่ 6 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีคุณโอฬาร จวนเย็น1 เป็นผู้แต่งเนื้อร้อง และคุณบุญส่ง หาญพานิช 2 เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง ทั้งคุณโอฬารและคุณบุญส่งได้เล่าให้ฟังทางโทรศัพท์ว่า เพลงนี้ได้เล่นเป็นครั้งแรก ในงานต้อนรับน้องใหม่ช่วงกลางคืน เนื่องจากเป็นประเพณีของคณะศึกษาศาสตร์ ที่รุ่นพี่จะให้น้องใหม่แต่งเพลงเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเพื่อบรรเลงในงาน

               เมื่อปลายปี 2526 อาจารย์ประสาท มีแต้ม 3 นายกสมาคมนักศึกษาเก่าคนแรกของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีดำริจะจัดทำเทปเพลงมหาวิทยาลัย ชุด “มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” ขึ้น (หน้าปกเทปสีฟ้าที่เราเคยนำเสนอหลายครั้ง ซึ่งหลายๆ คนคงจะจำกันได้)
               เนื่องจากในขณะนั้น เพลงประจำมหาวิทยาลัย มีเพียงแค่ 4 เพลง คือ เขตรั้วสีบลู สงขลานครินทร์ ถิ่นศรีตรัง และ รำวงน้องก็อีกราย ซึ่งเป็นเพลงที่บรรเลงโดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ โดยได้บันทึกเป็นแผ่นเสียงขนาดเล็ก ความเร็ว 45 RPM แต่การจะทำเทปคาสเซ็ท ซึ่งจะมีเพลงเพียงแค่ 4 เพลงนั้น นับว่าน้อยเกินไป จึงได้มีการรวบรวมเพลงต่างๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ม.อ. ซึ่งยังไม่เคยมีการบันทึกเสียงมาก่อน เพียงแต่นำมาร้องเล่นกันในหมู่นักศึกษา จำนวน 6 เพลง เพลงเหล่านี้แต่งโดยศิษย์เก่าและอาจารย์จาก ม.อ.ปัตตานี มารวมกับ 4 เพลงข้างต้น เพื่อจะนำไปบันทึกเสียงใหม่ ในรูปแบบเทปคาสเซ็ท โดยใช้ชื่อชุดว่า “มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” โดยการจัดทำครั้งนั้น ทางอาจารย์ประสาท มีแต้ม ได้มอบให้อาจารย์มนัส กันตวิรุฒ นายกสโมสรอาจารย์และข้าราชการ ม.อ.หาดใหญ่ ในขณะนั้นเป็นผู้ประสานงานการจัดทำตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งแล้วเสร็จ


เทปเพลงชุด
“มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง”

               ก่อนที่ อ.มนัส จะนำเพลงทั้งหมดจำนวน 10 เพลง ไปบันทึกเสียงที่ห้องบันทึกเสียงในกรุงเทพฯ อ.มนัส ได้นำเพลง 6 เพลงที่แต่งขึ้นใหม่ ซึ่งมีเพลง “แดนสรวง” รวมอยู่ด้วย ไปให้ คุณมนตรี สุปัญโญ 4 ช่วยตรวจและปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งจัดทำโน้ตเพลงให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ทางดนตรี หลังจากนั้นจึงนำขึ้นไปกรุงเทพฯ ให้คุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ 5 เรียบเรียงเสียงประสานให้



คุณรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส กำลังซ้อมร้องเพลง “แดนสรวง” กับคุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ ณ ห้องบันทึกเสียงศรีสยาม ดินแดง กรุงเทพฯ  
               การบันทึกเสียงเทปเพลงชุด “มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” ในครั้งนั้น บันทึกกันที่ห้องบันทึกเสียง “ศรีสยาม” ดินแดง กรุงเทพฯ ในช่วงระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนมีนาคม 2527 โดยในวันบันทึกเสียงเพลง “แดนสรวง” คุณรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส 6 ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นผู้ร้องเพลงนี้ หลังจากที่ได้ซ้อมและบันทึกเสียงในครั้งแรกแล้ว คุณรุ่งฤดีบอกว่า คุณภาพและโทนเสียงที่ออกมายังไม่สดใสเท่าที่ควร จึงตั้งใจจะกลับมาบันทึกเสียงให้ใหม่ในวันรุ่งขึ้น โดยในคืนนั้น คุณรุ่งฤดีถึงกับหยุดงานร้องเพลงที่ร้องประจำตามห้องอาหารต่างๆ หลายแห่งในกรุงเทพฯ ทั้งหมด เพื่อเป็นการถนอมเสียง ให้เพลงที่บันทึกออกมามีคุณภาพดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ด้วยความเป็นศิลปินที่พิถีพิถันในงานเพลงของคุณรุ่งฤดีในครั้งนั้น มีส่วนทำให้เพลง “แดนสรวง” เป็นอีกเพลงหนึ่งที่มีความไพเราะ กินใจ และถูกใช้เป็นเพลงเปิดและปิดของสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ. FM 88) ในเวลาต่อมา
               1. โอฬาร จวนเย็น ศิษย์เก่าคณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี รุ่น 6 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นักวิชาการ 7 ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา กรมการศึกษานอกโรงเรียน กรุงเทพมหานคร
                2. ดร.บุญส่ง หาญพานิช ศิษย์เก่าคณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี รุ่น 6 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยสยาม กรุงเทพมหานคร
               3. ผศ.ประสาท มีแต้ม ศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่ รุ่นที่ 1 อดีตนายกสมาคมนักศึกษาเก่าคนแรกของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ สังกัดภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
               4. มนตรี สุปัญโญ หรือที่บุคลากรรุ่นแรกๆ ของ ม.อ.จะรู้จักในนาม “พี่หมู” นับเป็นผู้มีคุณูปการกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในด้านการจัดทำเพลงมหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง จนสามารถกล่าวได้ว่า เพลงของ มอ. ทุกเพลง (ยกเว้น 4 เพลงดั้งเดิมที่วงสุนทราภรณ์แต่งให้) เกิดขึ้นได้เพราะพี่หมู ท่านได้เสียสละให้คำปรึกษาแนะนำ หลักวิชาการดนตรีและบทเพลง รวมทั้งจัดทำโน้ต จนกระทั่งงานเพลงของมหาวิทยาลัยสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี นอกจากนั้นแล้ว เมื่อมหาวิทยาลัยจัดงานใดๆ พี่หมูจะมาเล่นดนตรีให้ โดยไม่คิดค่าตอบแทนอยู่เป็นนิจสิน
               มนตรี สุปัญโญ เป็นที่รู้จักกันดีในวงการดนตรีเมืองไทย ได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถเป็นเลิศทางดนตรี และเล่นดนตรีได้หลายประเภท คุณมนตรีเกิดในตระกูลศิลปิน เป็นพี่ชายของคุณฉันทนา กิติยพันธ์ คุณสรายุทธ สุปัญโญ และเป็นลุงของคุณเสาวลักษณ์ ลีละบุตร (แอม)
               หลังจากคุณมนตรีออกจากวง “สุเทพโชว์” ได้ก่อตั้งวง “จามรี” ขึ้น และตระเวนเล่นในภาคอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่มีฐานทัพอเมริกันตั้งอยู่ ในยุค GI กำลังเฟื่องฟู ต่อมาประมาณปี 2518 เมื่อโรงแรมโฆษิต หาดใหญ่ สร้างเสร็จ คุณมนตรีได้รับการติดต่อให้นำวงมาเล่นประจำที่อะลาดินไนต์คลับ รวมทั้งเล่นอิเล็คโทนที่ห้องอาหารบุหงา โดยเล่นอยู่เป็นเวลานานกว่าสิบปี ต่อมาได้ย้ายไปเล่นที่โรงแรมอีกหลายแห่งในหาดใหญ่ ท่านได้จากไปเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2545 ด้วยโรคมะเร็งตับ ด้วยวัยเพียง 63 ปี

คุณมนตรี สุปัญโญ จัดวงดนตรีรวมการเฉพาะกิจ
บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์แสดงในพิธีเปิดงาน
“พระบารมีปกเกล้าชาวใต้” ซึ่งจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2542
               5. พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ นักเรียบเรียงเสียงประสานชื่อดัง เจ้าของผลงานเพลงที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ และเสาอากาศทองคำ มีผลงานที่ได้รับความนิยมมากมาย อาทิ เพลงน้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ, เพลงสั่งสกุณา ฯลฯ
               6. รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส อดีตนักร้องดาวรุ่งวงดนตรีสุนทราภรณ์ เจ้าของผลงานเพลง “พัทยาลาก่อน” มีเพลงที่สร้างชื่อเสียงในชีวิตการร้องเพลงมากมาย อาทิ เพลงเอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง เพลงแม่สอดสะอื้น เพลงคนหน้าเดิม เพลงช่างเขาเถิดนะหัวใจ เพลงหลานย่าโม เพลงแฟนซีชีวิต เพลงเธอคือดวงใจ เพลงแบ่งเวลาไปหาฉันบ้าง ฯลฯ

ถ่ายทอดข้อมูลและเรียบเรียงโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 
ปัญหาข้อที่ 2 : 
   
คำถาม     : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มี 2 วิทยาเขต คือ วิทยาเขตหาดใหญ่ และวิทยาเขตปัตตานี แล้วยังมี 3 เขตการศึกษาอีกด้วย อยากทราบว่า 3 เขตการศึกษานั้น มีชื่อว่าอะไรบ้าง (ไม่ต้องเรียงตามลำดับการเกิด)
   
คำตอบ     : เขตการศึกษาภูเก็ต เขตการศึกษาสุราษฎร์ธานี และ เขตการศึกษาตรัง
   

เกร็ดความรู้

เขตการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มี 3 แห่ง ดังนี้

               เขตการศึกษาภูเก็ต เป็นเขตการศึกษาที่เน้นทางด้านอุตสาหกรรมบริการที่เอื้อประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว การรักษาสภาพแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และพัฒนาสู่ความเป็นนานาชาติ ปัจจุบันมีหน่วยงานภายในทั้งสิ้น 3 หน่วยงาน คือ วิทยาลัยชุมชนภูเก็ต คณะอุตสาหกรรมบริการ และคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีนักศึกษาทุกระดับประมาณ 2,474 คน
               เขตการศึกษาสุราษฎร์ธานี มุ่งเน้นสาขาวิชาทางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมชีวภาพ การผลิตและการแปรรูปเชิงเกษตรอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีหน่วยงานภายในทั้งสิ้น 3หน่วยงาน คือวิทยาลัยชุมชนสุราษฎร์ธานี คณะเทคโนโลยีและการจัดการ และคณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันมีนักศึกษาทุกระดับประมาณ 1,814 คน
               เขตการศึกษาตรัง มุ่งเน้นสาขาวิชาทางด้านสังคมศาสตร์ประยุกต์ ธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ รวมทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ประกอบในเชิงธุรกิจและการจัดการ ปัจจุบัน มีคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ เป็นหน่วยงานภายใน มีนักศึกษารวมทุกระดับประมาณ 2,543 คน

สาระน่ารู้
               ระบบของมหาวิทยาลัยแต่เดิมจะเรียกเขตการศึกษาเหล่านี้ว่า โครงการจัดตั้งวิทยาเขต เนื่องจากยังไม่มีสภาพเป็นวิทยาเขตสมบูรณ์ ตาม พ.ร.บ. (ฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ปี 2522 ) ที่ต้องมีตั้งแต่ 2 หน่วยงานขึ้นไป (โดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง) ในวิทยาเขต

               แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดย 2 ปัจจัยหลักประกอบกันคือ นโยบายรัฐบาลในการชะลอการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ประกอบกับการปรับโครงสร้างโดยยุบรวมทบวงมหาวิทยาลัยเข้ากับกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้การจัดตั้งหน่วยงานโดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง ขึ้นในวิทยาเขตใหม่เป็นไปได้ยาก ซึ่งหมายความรวมถึง การเป็นวิทยาเขตทั้ง 3 แห่ง ตาม พ.ร.บ.ของ ม.อ.เสมือนโดนชะลอออกไปเช่นกัน

               ดังนั้น เพื่อไม่ให้คำว่า โครงการจัดตั้ง ติดอยู่กับวิทยาเขตใหม่ตลอดไป มหาวิทยาลัยจึงศึกษาเพื่อหาทางออก และต้องสอดรับกับ พ.ร.บ.ฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบันด้วยจึงได้ เสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อขอกำหนดการเรียกชื่อเป็น เขตการศึกษา เมื่อปี พ.ศ.2547 เป็นต้นไป

ประสานงานและติดตามข้อมูล โดย อ.มนัส กันตวิรุฒ
ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูล โดย คุณผดุงศักดิ์ อรนพ

ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ แผนที่

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน