เฉลยปัญหาประจำเดือน พฤศจิกายน 2550

ปัญหาข้อที่ 1 :  
   
คำถาม      : “ยาม เมื่อยามท้อแท้      ศรีตรังยังแผ่ เพื่อความหวัง
ยามร้อน ศรีตรังยัง        แผ่เย็นให้ ไม่รู้คลาย”
   
  เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร และใครเป็นผู้ขับร้อง
   
คำตอบ      : ชื่อเพลง “พริ้วศรีตรัง” ขับร้องโดย “จิตติมา เจือใจ”
{audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song50/พริ้วสีตรัง.mp3{/audio}

เกร็ดความรู้

                เพลง “พริ้วศรีตรัง” นี้ แต่งขึ้นตั้งแต่ปีการศึกษา 2518 ในช่วงใกล้ปิดภาคการศึกษาที่ 2 โดยมี คุณวัชรินทร์ ไตรวุฒานนท์1 อดีตนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. รุ่นที่ 5 เป็นผู้ประพันธ์คำร้อง และ คุณสำรวย ทรัพย์เจริญ2 อดีตนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ม.อ. รุ่นที่ 1 เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง
               คุณวัชรินทร์ ได้เล่าให้ฟังถึงที่มาของเพลง “พริ้วศรีตรัง” ว่าได้เคยรับปากกับคุณสำรวยไว้ว่าจะเขียนเพลงให้สักเพลงหนึ่งโดยคุณสำรวยจะเป็นผู้แต่งทำนอง จนกระทั่งเวลาผ่านไปใกล้ปิดภาคเรียน คืนนั้นพระจันทร์ส่องสว่าง ลมพัดเอื่อยๆ เย็นสบาย คุณวัชรินทร์ได้เดินออกจากหอพักนักศึกษาไปตามถนนจนถึงบริเวณซ้ายมือเป็นคาเฟทีเรีย ริมถนนมีต้นศรีตรังที่พี่น้องชาว ม.อ.ช่วยกันปลูกไว้ งามบ้าง โทรมบ้าง ลมพัดกิ่งก้านไหวไปมา ทัศนียภาพยามนี้ทำให้คุณวัชรินทร์ขึ้นท่อนแรกของเพลงได้

“พริ้ว ปลิวศรีตรัง ต้านลมโชย โบกโบยอยู่นิรันดร์กาล
ดอกสีม่วง แผ่กลีบดอกบาน นานแสนนาน บานกลางหัวใจ”

               สำหรับท่อนที่ 3 ของเพลง “พริ้วศรีตรัง” ที่นำมาเป็นปัญหาประจำเดือนพฤศจิกายน 2550 นั้น เกิดขึ้นเนื่องจากขณะที่คุณวัชรินทร์เดินไปตามถนนรอบอ่างเก็บน้ำ มีมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งสวนทางมา แล้วก็จอดกะทันหันห่างจากคุณวัชรินทร์ 50 เมตร ผู้ขี่มอเตอร์ไซค์ได้ใช้ไม้จากบริเวณนั้นเขี่ยงูให้พ้นไปจากถนน ชายที่ขี่มอเตอร์ไซค์นั้น คุณวัชรินทร์บอกว่าทราบภายหลังว่าเป็นอาจารย์ ทั้งๆ ที่อาจารย์กับคุณวัชรินทร์ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ด้วยความเอื้ออาทร เกรงว่างูอาจจะทำร้ายคุณวัชรินทร์ อาจารย์จึงยอมเสียสละเวลาทำสิ่งที่คิดว่าเป็นความปลอดภัยของคุณวัชรินทร์ น้ำใจที่คุณวัชรินทร์ได้พานพบ เป็นภาพชีวิตจริงในร่มศรีตรัง เนื้อเพลงท่อนที่ 3 จึงเกิดขึ้นในตอนนั้น


“ยาม เมื่อยามท้อแท้ ศรีตรังยังแผ่ เพื่อความหวัง
ยามร้อน ศรีตรังยัง แผ่เย็นให้ ไม่รู้คลาย”


จิตติมา เจือใจ กำลังซ้อมร้องเพลง “พริ้วศรีตรัง”
กับคุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ ในห้องบันทึกเสียง
ศรีสยาม กทม. (มีนาคม 2527) 
               เพลง “พริ้วศรีตรัง” เป็น 1 ใน 6 เพลง ที่แต่งขึ้นมาใหม่ โดยเมื่อบันทึกเสียงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้นำไปรวมกับ 4 เพลงที่มีอยู่เดิม ซึ่งแต่งและบรรเลงโดยวงดนตรีสุนทรา -ภรณ์ หลังจากนั้นจึงนำมารวมไว้ในเทปเพลงมหาวิทยาลัย ชุด “มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” ซึ่งสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดทำขึ้น เมื่อเดือนมีนาคม 2527 
               เพลง “พริ้วศรีตรัง” นี้ ได้มอบให้ คุณจิตติมา เจือใจ3 เป็นผู้ขับร้อง โดยมี คุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์4 เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน 

               ต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ได้มีการจัดทำเพลงมหาวิทยาลัยขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในรูปแบบของเทปและซีดี โดยใช้ชื่อชุดว่า “ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชชนก” การจัดทำครั้งนี้จัดทำขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 35 ปีแห่งการก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ ก็ได้มีการนำเอาเพลง “พริ้วศรีตรัง” มารวมไว้เช่นกัน

1. วัชรินทร์ พุทธพรไพสิฐ (ไตรวุฒานนท์)
               ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.รุ่นที่ 5 อดีตอุปนายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ปีการศึกษา 2518 ปัจจุบันทำงานเป็นผู้จัดการบริการสวัสดิการและสำนักงาน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
2. แพทย์หญิงเพ็ญนภา (สำรวย) ทรัพย์เจริญ
               ศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์ ม.อ.รุ่นที่ 1 เคยดำรงตำแหน่งแพทย์สาธารณสุข จังหวัดปราจีนบุรี ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
3. จิตติมา เจือใจ
               นักร้องยอดนิยมในอดีต มีผลงานเพลงที่มีความไพเราะและอมตะหลายเพลง อาทิ ถ้าหัวใจฉันมีปีก, หลักไม้เลื้อย, กาลเวลา, ไม่มีวันที่โลกจะหมุนกลับ, โชคดียอดรัก, ตัดไม่ขาด ฯลฯ
4. พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
               นักเรียบเรียงเสียงประสานชื่อดัง เจ้าของผลงานเพลงที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ และเสาอากาศทองคำ มีผลงานที่ได้รับความนิยมมากมาย อาทิ เพลงน้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ, เพลงสั่งสกุณา ฯลฯ

ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 
ปัญหาข้อที่ 2 : 
   
คำถาม     : บุคคลที่อยู่ด้านซ้ายของภาพคือใคร ให้ระบุชื่อและนามสกุลอย่างชัดเจน
   
คำใบ้ : บุคคลท่านนี้เคยเป็นอดีตอธิการบดีของ ม.อ.
   
คำตอบ     : ศาสตราจารย์นายแพทย์ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์
   

เกร็ดความรู้

 

               ภาพนี้เป็นภาพ Farewell Party เมื่อคืนวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2525 ณ อาคารสโมสรอาจารย์และข้าราชการ ในการแข่งขันกีฬาเชื่อมความสามัคคีระหว่าง Universiti Sains Malaysia กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งสโมสรอาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดขึ้น การจัดครั้งนี้เป็นการจัดครั้งแรก

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คนที่ 6

วาระการดำรงตำแหน่ง
กรกฎาคม 2522 - มิถุนายน 2528 (2 วาระติดกัน)

ประวัติการศึกษา
- แพทยศาสตรบัณฑิต (เหรียญทองคะแนนยอดเยี่ยมตลอดหลักสูตร) จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (2495)
- Doktor der Medizin (Dr.med) จากมหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก สหพันธรัฐเยอรมัน (2500 - 2502)
- M.Ed จากมหาวิทยาลัย Illinois นคร Chicago มลรัฐ Illinois สหรัฐอเมริกา (2514)

ปริญญากิตติมศักดิ์
- ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2528)
- ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2535)
- ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2538)
- ปริญญาทันตแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2547)
- ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร (2547)

ประวัติการทำงานที่สำคัญ
- พ.ศ. 2515 หัวหน้าหน่วยแพทยศาสตร์ศึกษา
- พ.ศ. 2518 – 2521 รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พ.ศ. 2521 ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมการศึกษาแพทย์สำหรับชาวชนบท (MESRAP) ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- กรรมการแพทยสภา และประธานอนุกรรมการสอบความรู้ เพื่อขึ้นทะเบียนประกอบวิชาชีพเวชกรรม
- กรรมการบริหารแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย
- ที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกทางบุคลากรสาธารณสุขประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- พ.ศ. 2522 รักษาการคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- พ.ศ. 2522 – 2528 อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2 วาระติดกัน)
- พ.ศ. 2529 – 2531 ที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกด้านแพทยศาสตร์ศึกษา ประจำประเทศบังคลาเทศ
- พ.ศ. 2532 – 2533 ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ฝ่ายพัฒนาบุคลากร
- พ.ศ. 2533 รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาล สภากาชาดไทย
- พ.ศ. 2539 – 2543 ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร
- พ.ศ. 2543 – 2548 ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและประกันคุณภาพการศึกษา (พปค.) สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ

เกียรติประวัติที่ภาคภูมิใจ
- ได้รับเกียรติเป็นบุคลากรดีเด่น ประเภทความเป็นครู จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2532)
- ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง “ศาสตราจารย์พิเศษ” คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2534)
- ได้รับพระราชทานเหรียญรางวัล เจ้าฟ้าสุทธาทิพย์จากองค์อุปนายิกา สภากาชาดไทย ในฐานะที่เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่น ในด้านการพัฒนาองค์กรและวิชาการให้แก่สภากาชาดไทย

ผลงานในช่วงดำรงตำแหน่งอธิการบดี
1. ดำเนินการจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ที่วิทยาเขตหาดใหญ่ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่วิทยาเขตปัตตานี
2. จัดตั้งสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ศูนย์คอมพิวเตอร์ สำนักวิจัยและพัฒนา วิทยาลัยอิสลามศึกษา และวิทยาลัยชุมชนภูเก็ตขึ้นเป็นหน่วยงานเทียบเท่าคณะ
3. เริ่มเปิดสอนหลักสูตรอิสลามศึกษาขึ้นในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
4. รับนักเรียนจากโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามเข้าเรียนในโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย เพื่อให้มีโอกาสเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพิ่มมากขึ้น
5. จัดตั้งศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเข้าใจในการที่จะผสมผสานกลุ่มและบุคคลต่างๆ ให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม
6. จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมราชชนกที่วิทยาเขตหาดใหญ่
7. ดำเนินการสืบเนื่อง จัดสร้างอาคารสำนักงานอธิการบดี โดยได้รับความอนุเคราะห์จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด จนสำเร็จ
8. เวนคืนที่ดิน และดำเนินงานให้ผู้บุกรุกออกจากเขตมหาวิทยาลัย วิทยาเขตหาดใหญ่
9. ดำเนินการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลสงขลานครินทร์จนแล้วเสร็จ เปิดให้บริการในส่วน 100 เตียง ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2525
10. ผลักดันให้สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ดำเนินการออกอากาศได้ในปี 2524
11. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ การสอน การวิจัย และการประยุกต์ใช้ความรู้ และวิทยาการเพื่อพัฒนาประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยออสเตรเลียตะวันตก มหาวิทยาลัยอาเบอร์ดีน มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ และมหาวิทยาลัยมิสซูรี

ข้อมูลจาก..หนังสือครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ แผนที่

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน