เฉลยปัญหาประจำเดือน มกราคม 2551

ปัญหาข้อที่ 1 :  
   
คำถาม      : “ครูคือแก้วแพร้วใสกลางใจศิษย์       ชุบชีวิตมืดมนจนจางหาย
เป็นแก้วก่องส่องทางห่างอบาย          สู่ที่หมายด้วยแสงแห่งปัญญา”
   
  เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร และใครเป็นผู้ขับร้อง
   
คำใบ้ : เพลงนี้เป็น 1 ใน 20 เพลงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชุด “ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชชนก”
   
คำตอบ      : ชื่อเพลง “แก้ว” ขับร้องโดย “สวลี ผกาพันธ์”
{audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song51/kaew full.mp3{/audio}

เกร็ดความรู้

               เมื่อครั้งที่ผมได้รับมอบหมายจากคณะวิทยาศาสตร์ ให้เป็นผู้ประสานงานการจัดทำเพลงมหาวิทยาลัย ชุด “ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชชนก” เมื่อปี พ.ศ. 2544 สิ่งที่ผมคิดเป็นลำดับแรก คือเพลงชุดนี้น่าจะมีเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ แล้วนำมารวมกับเพลงเก่าในชุด “มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” ที่เคยจัดทำไว้เดิมเมื่อปี พ.ศ. 2527 ทั้งนี้ เพื่อให้ได้เพลงทั้งหมด จำนวน 20 เพลง โดยจะบรรจุลงแผ่นซีดี จำนวน 2 แผ่น หรือ เทปคาสเซ็ท จำนวน 2 ม้วน แล้วนำมารวมไว้อยู่ในชุดเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การจัดทำครั้งนี้เป็นการรวมเพลงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด นับตั้งแต่มีการจัดทำมา

               เพลง “แก้ว” เป็นเพลงที่ “รองศาสตราจารย์วันเนาว์ ยูเด็น1 อาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประพันธ์ทั้งคำร้องและทำนองไว้ เพลงนี้เป็นเพลงที่รู้จักและคุ้นเคยในบรรดานักศึกษาวิทยาเขตปัตตานีเป็นอย่างดี แต่ยังไม่ได้มีการบันทึกเสียงในขณะนั้น

               ครั้งแรกที่ผมได้เห็นเนื้อเพลงเพลงนี้ ในฐานะที่ใช้ชีวิตเป็นครูใน ม.อ. มานานหลายปี และมีลูกศิษย์มากมาย ผมรู้สึกประทับใจในบทเพลงเพลงนี้อย่างมาก เพราะจากเนื้อร้องสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพัน ระหว่างครูกับศิษย์ได้อย่างชัดเจน ผมจึงได้ขอเพลงนี้จากพี่วันเนาว์ เพื่อนำมาบันทึกเสียง โดยรวมไว้ในเพลงมหาวิทยาลัยชุดนี้ด้วย

               การที่จะทำให้เพลง “แก้ว” ฟังแล้วรู้สึกซาบซึ้ง ประทับใจ เกิดอารมณ์คล้อยตาม และเป็นอมตะอยู่ได้ยาวนานนั้น ผมต้องใช้เวลาคิดและพิจารณาหานักร้องที่มีความเหมาะสมมาร้องเพลงนี้อยู่นานพอสมควร ในที่สุด ผมก็ตัดสินใจเลือก “คุณสวลี ผกาพันธ์2 ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นเจ้าของเพลงอมตะ “ใครหนอ” ให้เป็นผู้ขับร้องเพลงนี้

“น้อมดอกบัวหัวใจมอบให้แล้ว        มอบแด่แก้วมณีอันมีค่า
เสมอสิ่งมิ่งขวัญกตัญญุตา                           น้อมบูชาจากจิตของศิษย์เอย”

               สิ่งที่ช่วยพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า ผมตัดสินใจไม่ผิดในการเลือกนักร้อง เห็นได้จากในวันที่มีการบันทึกเสียงเพลง “แก้ว” เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ที่ห้องบันทึกเสียง “เจ้าพระยาสตูดิโอ” กทม. หลังจากที่คุณสวลี ผกาพันธ์ ร้องเพลงนี้จบ ผมมีโอกาสได้เห็นหยาดน้ำตาที่ไหลลงมาสองข้างแก้มของรองศาสตราจารย์วันเนาว์ ยูเด็น ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์เพลงนี้ ภาพนั้นยังประทับใจผมอยู่ตราบจนทุกวันนี้


คุณสวลี ผกาพันธ์ (ซ้าย) และ รศ.วันเนาว์ ยูเด็น (ขวา)


               บุคคลอีกท่านหนึ่งที่มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยทำให้เพลง “แก้ว” เป็นเพลงที่มีความสมบูรณ์ ลงตัว และกลมกลืนทางด้านเสียงดนตรี คือ “คุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์3“ ซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงนี้


คุณสวลี ผกาพันธ์ (กลาง) และ คุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ (ขวา)

1. รองศาสตราจารย์วันเนาว์ ยูเด็น
                อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีผลงานบทกวีที่มีความไพเราะมากมาย ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว
2. สวลี ผกาพันธ์
                ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) พ.ศ. 2532 มีผลงานการขับร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงมากมายกว่า 1,500 เพลง ในจำนวนนี้มีมากมายหลายเพลงที่ได้รับความสำเร็จสูงสุด และยังคงอยู่ในความนิยมตราบจนทุกวันนี้ อาทิ ลมหวน เมื่อวานนี้ หนึ่งในร้อย ระฆังทอง ดวงใจ ฟ้ามิอาจกั้น หากรู้สักนิด ฆ่าฉันให้ตายดีกว่า หนีรัก จำเลยรัก บ้านทรายทอง ฤทธิ์กามเทพ ฯลฯ ด้วยน้ำเสียงและความสามารถเป็นเลิศ ทำให้ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานถึง 4 ครั้ง นับเป็นนักร้องหญิงที่ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำมากที่สุด
3. พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
                  ครูเพลง นักเรียบเรียงเสียงประสานชื่อดัง เจ้าของผลงานเพลงที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน และรางวัลเสาอากาศทองคำมากมาย อาทิ
                  เพลง “ไทยธำรงไทย”                ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2514
                  เพลง “น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ”      ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2518
                  เพลง “ตะแลงแลงแทงใจ”             ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2520
                  เพลง “พะวงรัก”                       ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2521
                  เพลง “สุดเหงา”                       ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2525

ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 
ปัญหาข้อที่ 2 : 
   
คำถาม     : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” เมื่อปี พ.ศ. ใด
   
คำตอบ     : ปี พ.ศ. 2510
   

เกร็ดความรู้

 

               ขณะเริ่มดำเนินการให้มีการก่อสร้างมหาวิทยาลัยที่ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ในปี พ.ศ. 2509 ยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ จึงใช้ชื่อว่ามหาวิทยาลัยภาคใต้

               ต่อมา คณะกรรมการดำเนินการก่อตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้ โดยมีพันเอกถนัด คอมันตร์ เป็นประธาน เห็นว่า เพื่อให้สถาบันแห่งนี้ เป็นศูนย์รวมด้านจิตใจของประชาชนชาวไทย และเพื่อเป็นศิริมงคลแก่มหาวิทยาลัย ควรได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานชื่อให้แก่มหาวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานชื่อ เมื่อปี พ.ศ. 2510 ว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตามพระนามฐานันดรศักดิ์ของสมเด็จพระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์


(คลิกที่ภาพ เพื่อดูภาพขนาดใหญ่)

หนังสือจากสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยภาคใต้

ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ แผนที่

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน