เฉลยปัญหาประจำเดือน มีนาคม 2551

ปัญหาข้อที่ 1 :  
   
คำถาม      : “จึงร่มรื่นชื่นชุ่มเป็นพุ่มพฤกษ์           หยั่งรากลึกแผ่ขยายหลายสาขา
ผลิช่อพวงม่วงครามงามจับตา           ยอดเสียดฟ้าท้าทายกลางสายลม”
   
  เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร และใครเป็นผู้ขับร้อง
   
คำตอบ      : ชื่อเพลง “ถิ่นศรีตรัง” ขับร้องโดย “สุเทพ วงศ์กำแหง”
{audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song51/ถิ่นศรีตรัง สุเทพ mp3{/audio}

เกร็ดความรู้


เทปเพลงชุดร่มศรีตรัง
               ประมาณปี พ.ศ. 2535 ผมได้เทปเพลงมาม้วนหนึ่งจาก ม.อ. ปัตตานี ที่ปกเทปใช้ชื่อชุดว่า.....“ร่มศรีตรัง”
               5 ใน 10 เพลงที่มีอยู่ในเทปม้วนนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพลงทั้ง 5 เพลงดังกล่าวได้แก่ เพลงถิ่นศรีตรัง, อาณาจักรศรีตรัง, ร่มศรีตรัง, ยังไม่ลืมศรีตรัง และ น้องมาลัย

 


เทปเพลงชุด
มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง
               สำหรับเพลงร่มศรีตรัง, ยังไม่ลืมศรีตรัง ผมเคยนำไปบันทึกเสียงไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2527 ที่ห้องบันทึกเสียง “ศรีสยาม” ดินแดง กรุงเทพฯ โดยรวมไว้ในเทปชุด “มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” ซึ่งจัดทำโดยสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีคุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน ส่วนอีกสามเพลงคือ เพลงถิ่นศรีตรัง, อาณาจักรศรีตรัง และน้องมาลัย เป็นเพลงที่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยในขณะนั้น
                ผมมาทราบภายหลังจากพี่วันเนาว์ ยูเด็น ซึ่งท่านกรุณาเล่าให้ฟังว่า เทปเพลงชุด “ร่มศรีตรัง” จัดทำขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2532 จุดประสงค์ในการจัดทำก็เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ และเพื่อหาทุนจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี ผู้ช่วยเหลือในการจัดทำเทปชุดนี้ได้แก่ คุณประเสริฐ พุ่งกุมาร ส่วนผู้เรียบเรียงเสียงประสานคือคุณไชยศักดิ์ รุกขรังสฤษดิ์ ทำการบันทึกเสียงที่ห้องบันทึกเสียง “ไพบูลย์ ศุภวารี” บางโพ กรุงเทพฯ จำนวนที่จัดทำคือ 1,000 ม้วน โดยจำหน่ายในราคาม้วนละ 50 บาท

 


จากซ้าย : อ.มนัส กันตวิรุฒ, คุณสุเทพ วงศ์กำแหง
และคุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
               ย้อนกลับมาพูดถึงเพลง “ถิ่นศรีตรัง” เมื่อผมได้ฟังเพลงนี้เป็นครั้งแรก ผมรู้สึกประทับใจเพลงนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเพลงที่มีเนื้อร้องที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยที่มีความหมายลึกซึ้งกินใจ ดังนั้น เมื่อผมมีโอกาสได้มาทำเพลงให้มหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2544 ซึ่งการจัดทำครั้งนี้จัดทำในรูปแบบซีดีและเทปคาสเซ็ท ผมเลยนำเพลงนี้มาบันทึกเสียงใหม่ และรวมไว้ในชุด “ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชชนก” โดยยังคงให้ คุณสุเทพ วงศ์กำแหง1 เป็นผู้ขับร้องตามที่เคยร้องไว้ในต้นฉบับเดิม เพียงแต่เปลี่ยนให้คุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์2 เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน

 

               การบันทึกเสียงในปี พ.ศ. 2544 ได้ทำการบันทึกเสียงที่ห้องบันทึกเสียง “เจ้าพระยาสตูดิโอ” ถนนอรุณอมรินทร์ กรุงเทพฯ โดยในวันที่มีการบันทึกเสียงเพลง “ถิ่นศรีตรัง” ผมได้เชิญทั้งพี่มะเนาะ (ผศ.มะเนาะ ยูเด็น3 ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์คำร้อง) และพี่วันเนาว์ (รศ.วันเนาว์ ยูเด็น4 ผู้ประพันธ์ทำนอง) มาร่วมฟังการบันทึกเสียงด้วย
               สำหรับการบันทึกเสียงเพลง “ถิ่นศรีตรัง” ครั้งนี้ เพื่อให้มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น ได้มีการแก้ไขปรับปรุงเสียงร้องที่คุณสุเทพขับร้องไว้ในการบันทึกเสียงครั้งก่อน ซึ่งจะมีเสียงบางช่วงบางตอนที่ฟังไม่ชัดเจน ก็นำมาร้องใหม่ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น

 

1. สุเทพ วงศ์กำแหง
               ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) พ.ศ. 2533 เป็นศิลปินนักร้องเพลงไทยสากลที่มีผลงานดีเด่นเป็นเวลาต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำ ในฐานะนักร้องยอดเยี่ยมถึง 2 ครั้ง มีผลงานเพลงที่ได้รับการบันทึกแผ่นเสียงและได้รับความนิยมไม่ต่ำกว่า 1,000 เพลง และยังคงความเป็นอมตะมาจนทุกวันนี้ มีหลายเพลงที่อยู่ในความทรงจำของแฟนเพลง อาทิ รักคุณเข้าแล้ว, บ้านเรา, เท่านี้ก็ตรม, พี่ยังรักเธอไม่คลาย, คืนนี้พี่คอยเจ้า, โลกนี้คือละคร, นางใจ, จงรัก, คนเดียวในดวงใจ, เสน่หา ฯลฯ

 

2. พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
                 ครูเพลง นักเรียบเรียงเสียงประสานชื่อดัง เจ้าของผลงานเพลงที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน และรางวัลเสาอากาศทองคำมากมาย อาทิ
                            เพลง “ไทยธำรงไทย”                  ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2514
                            เพลง “น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ”       ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2518
                            เพลง “ตะแลงแกงแทงใจ”               ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2520
                            เพลง “พะวงรัก”                         ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2521
                            เพลง “สุดเหงา”                          ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2525

 

3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์มะเนาะ ยูเด็น
               อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีผลงานบทกวีที่มีความไพเราะมากมาย ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว
4. รองศาสตราจารย์วันเนาว์ ยูเด็น
               อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีผลงานบทกวีที่มีความไพเราะมากมาย ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว

ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 
ปัญหาข้อที่ 2 : 
   
คำถาม     : มหาวิทยาลัยได้กำหนดให้วันที่เท่าไรและเดือนอะไรของทุกปี เป็น “วันสถาปนามหาวิทยาลัย”
   
คำตอบ     : วันที่ 13 เดือนมีนาคม ของทุกปี
   

เกร็ดความรู้

              เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2511 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาในวันถัดมา คือ วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2511 ดังนั้นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงกำหนดให้วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่สำคัญอีกวันหนึ่งของมหาวิทยาลัย โดยกำหนดเป็น “วัน       สถาปนามหาวิทยาลัย” ดังนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะครบ 40 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551
               มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาสครบ 40 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย ในวันที่ 13 สิงหาคม 2551 โดยมีกิจกรรมดังนี้

                เวลา 07.00 – 08.00 น. มีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 41 รูป บริเวณหน้าลานพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบรมราชชนก

 

               เวลา 09.00 – 10.30 น. บรรยายพิเศษ หัวข้อ “คนไทยจะอยู่อย่างไรในสภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจปัจจุบัน” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ผู้ทรงคุณวุฒิ สาขาเศรษฐศาสตร์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และกรรมการสภามหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและหอสมุดฯ คณะแพทยศาสตร์


               เวลา 10.30 – 12.00 น. พิธีมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเครื่องหมายเชิดชูเกียรติคุณแก่บุคลากรดีเด่น ประจำปี 2550 โดยรองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดี ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและหอสมุดฯ คณะแพทยศาสตร์



บรรยากาศในพิธี

รวบรวมและนำเสนอข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ
ภาพโดย พามดา โสตถิพันธุ์

ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ แผนที่

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน