เฉลยปัญหาประจำเดือน มิถุนายน 2551

ปัญหาข้อที่ 1 :  
   
คำถาม      : “มาลัยพี่นี้คล้องน้องรับขวัญ           ขวัญมาสู่สถานบันการศึกษา
รวมพลังดังรวมร่วมชีวา                   สู่สงขลานครินทร์ด้วยยินดี”
   
  เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร และใครเป็นผู้ขับร้อง
   
คำตอบ      : ชื่อเพลง “น้องมาลัย” ขับร้องโดย “ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา” และ “อุมาพร บัวพึ่ง”
{audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song51/nongmalai-full.mp3{/audio}

เกร็ดความรู้


เทปเพลง “ร่มศรีตรัง”
               เพลง “น้องมาลัย” เป็นเพลงอีกเพลงหนึ่งในเทปเพลงชุด “ร่มศรีตรัง” ซึ่งจัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ และเพื่อหาทุนจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2532
               ในครั้งนั้น เพลงนี้ขับร้องโดยคุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวา และคุณพราวตา ดาราเรือง
               เมื่อผมได้ฟังเพลงนี้เป็นครั้งแรก ผมรู้สึกประทับใจในท่วงทำนองและความหมายของเพลงๆ นี้เป็นอย่างมาก เพลงนี้สามารถสร้างความรู้สึกที่ดีสำหรับผู้เข้ามาเป็นน้องใหม่ ทำให้มองเห็นบรรยากาศการรับน้อง การต้อนรับจากรุ่นพี่ที่แสนจะอบอุ่นและประทับใจ รวมทั้งสามารถปลุกจิตสำนึกให้เกิดความรักและความภาคภูมิใจใน ม.อ. ซึ่งเป็นสถาบันที่ตนเองจะได้เข้ามาศึกษาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย


                 เพลงนี้ รองศาสตราจารย์วันเนาว์ ยูเด็น1 เป็นผู้ประพันธ์ทั้งคำร้องและทำนอง


เทปและซีดีเพลงชุด
“ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชชนก”
           ดังนั้น เมื่อผมได้รับมอบหมายจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้เป็นผู้ประสานงานในการจัดทำเทปและซีดีเพลงชุด “ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชชนก” ซึ่งจัดทำขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 35 ปี แห่งการก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2544 ผมจึงได้นำเพลง “น้องมาลัย” มาจัดทำใหม่ โดยมอบให้ คุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์2 เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน และทำดนตรีใหม่ โดยนักร้องชายยังคงให้ คุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวา3 เป็นผู้ขับร้องตามเดิม แต่นักร้องหญิง เปลี่ยนมาเป็น คุณอุมาพร บัวพึ่ง4 เป็นผู้ขับร้องแทน


                การบันทึกเสียงครั้งนี้ ทำการบันทึกที่เจ้าพระยาสตูดิโอ ถนนอรุณอัมรินทร์ กรุงเทพมหานคร โดยผมได้เชิญ ผศ.วันเนาว์ ยูเด็น (ผู้ประพันธ์คำร้องและทำนอง) และ รศ.มะเนาะ ยูเด็น เข้าร่วมฟังการบันทึกเสียงในครั้งนี้ด้วย


จากซ้าย : พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์,
ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา และ อ.มนัส กันตวิรุฒ

อุมาพร บัวพึ่ง ขณะกำลังรอเข้าห้องอัดเสียง



จากซ้าย : อ.มนัส กันตวิรุฒ, รศ.วันเนาว์ ยูเด็น,
อุมาพร บัวพึ่ง และ ผศ.มะเนาะ ยูเด็น




               คุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวา เป็นนักร้อง 1 ใน 2 คน ที่บันทึกเสียงเพลงของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มากที่สุด เป็นจำนวนถึง 3 เพลง ทุกครั้งที่ “พี่ปื๊ด” (ทนงศักดิ์) ได้รับการติดต่อให้มาร้องเพลงบันทึกเสียงให้กับ ม.อ. ผมสังเกตเห็นรอยยิ้มของพี่ปื๊ด พร้อมกับแสดงอาการที่บ่งบอกถึงความเต็มอกเต็มใจในการมาร้องให้ พี่ปื๊ดจะทุ่มเทในการร้องทุกครั้ง ผมยังจำคำพูดอันแสดงความมีน้ำใจของพี่ปื๊ดในวันที่ผมยื่นซองใส่เงินสมนาคุณ เมื่อการบันทึกเสียงเพลง “ฝากดวงใจไว้ที่วิทยาศาสตร์” และ “น้องมาลัย” สิ้นสุดลง ผมพูดกับพี่ปื๊ดว่า “ม.อ. เรามีงบไม่มาก คงให้พี่ได้แค่นี้” พี่ปื๊ดพูดกับผมสั้นๆ ว่า “ไม่เป็นไรอาจารย์ ช่วยๆ กัน”
               เพลง “น้องมาลัย” อาจถือได้ว่าเป็นเพลงสุดท้ายในชีวิตที่คุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวา ได้บันทึกเสียงเอาไว้ เพราะหลังจากนั้นไม่นาน คุณทนงศักดิ์ ก็ล้มป่วยเป็นโรคเส้นโลหิตในสมองแตกเฉียบพลัน ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปี ที่นอนรักษาตัวเป็นเจ้าชายนิทราที่โรงพยาบาลศิริราช โดยเป็นคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
               คุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวา ถึงแก่กรรมในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ด้วยโรคปอดอักเสบและติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้โลหิตเป็นพิษ



 



                ในพิธีสวดพระอภิธรรมศพ คุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวา เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ที่ศาลา 1 วัดตรีทศเทพ กรุงเทพมหานคร ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ได้มอบให้ผมเป็นผู้แทนนำพวงหรีดไปเคารพศพ เพื่อแสดงความอาลัยในครั้งนี้ด้วย





บริเวณพิธีสวดพระอภิธรรม คุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวา
ณ ศาลา 1 วัดตรีทศเทพ กรุงเทพมหานคร


อ.มนัส กันตวิรุฒ ถ่ายรูปร่วมกับคุณวินัย พันธุรักษ์
นายกสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์


อ.มนัส กันตวิรุฒ ถ่ายรูปร่วมกับคุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
1. รองศาสตราจารย์วันเนาว์ ยูเด็น
              อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีผลงานบทกวีที่มีความไพเราะมากมาย ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว

 

2. พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
             ครูเพลง นักเรียบเรียงเสียงประสานชื่อดัง เจ้าของผลงานเพลงที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน และรางวัลเสาอากาศทองคำมากมาย อาทิ
                        เพลง “ไทยธำรงไทย”                    ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2514
                        เพลง “น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ”         ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2518
                        เพลง “ตะแลงแกงแทงใจ”                ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2520
                        เพลง “พะวงรัก”                          ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2521
                        เพลง “สุดเหงา”                           ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2525

 

3. ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา
               ศิลปินมากความสามารถ มีผลงานด้านร้องเพลง แสดงภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ มากมาย เพลงแรกที่ร้องอัดแผ่นเสียงคือ “เอื้องดอกฟ้า” มีลีลาการร้องทอดเสียง ออดอ้อน มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองจนได้รับฉายานักร้องเสียงระทม เพลงที่ร้องล้วนแล้วได้รับความนิยมทั้งสิ้น อาทิ เดือนต่ำดาวตก หอรักหอร้าง นารี อยู่เพื่อคอยเธอ วันคอย นกเอี้ยงจ๋า ยามชัง เพื่อความรัก ไกลชู้ ฐานันดรรัก ดึกเอยดึกแล้ว ไม่รักไม่ว่า ฯลฯ
               - เป็นอดีตหนึ่งในสมาชิกวงดนตรี “สามศักดิ์”
               - ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึง 3 ครั้ง จากเพลงแมวเหมียว ใกล้เข้ามาแล้ว และ ไร้อารมณ์
               - ได้รับรางวัลเกียรติบัตรประกาศเกียรติคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เป็นผู้ขับร้องเพลงไทยสากล โดยใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องชัดเจนในปี พ.ศ. 2534

 

4. อุมาพร บัวพึ่ง
              นักร้องเด่นดังทั้งน้ำเสียง ความสวย และมีแฟนเพลงรู้จักท่วมท้น เพลงที่ได้รับความนิยมอย่างมาก คือ หนึ่งหญิงสองชาย นานเท่าไหร่ก็จะรอ
                         ปี พ.ศ. 2520 ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำจากเพลง “เหตุการณ์รัก”
                         ปี พ.ศ. 2524 ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำจากเพลง “สตรีหมายเลขศูนย์”
              นอกจากนั้น ยังได้รับรางวัลตุ๊กตามหาชนเกียรติยศจากหนังสือพิมพ์บ้านเมืองอีกด้วย

 

ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 
ปัญหาข้อที่ 2 : 
   
คำถาม     : พระพุทธรูป 3 องค์ ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชทานให้เพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัย ปัจจุบันประดิษฐานไว้ที่ 3 วิทยาเขต อยากทราบว่าเป็น วิทยาเขตใดบ้าง
   
คำตอบ     : ก) วิทยาเขตหาดใหญ่ วิทยาเขตปัตตานี และวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี
   

เกร็ดความรู้

                 ที่มาของพระพุทธรูปดังกล่าวก็คือ เมื่อครั้งฉลองครบรอบ 25 ปี การก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั้น (ประมาณปี พ.ศ. 2536) มหาวิทยาลัยฯ เคยปรารภจะสร้างพระพุทธรูปเพื่อฉลองวโรกาสพิเศษและเคยได้กราบทูลพระกรุณาขอพระราชทานแผ่นทองปฐมฤกษ์จากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งได้ทรงโปรดฯ รับไว้ในพระราชวินิจฉัย แต่ยังไม่ได้มีการสร้างพระพุทธรูป ในครั้งนั้น จน 2 ปีต่อมา ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้กราบทูลสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เรื่องพระพุทธรูป ซึ่งได้ทรงพระกรุณาทูลขอพระราชทานจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระองค์ท่านได้พระราชทานพระพุทธรูปมา 2 องค์ คือ พระพุทธหลวงพ่อพระเสริมกับพระพุทธหลวงพ่อเพชร พระพุทธหลวงพ่อพระเสริมนั้น พระราชทานให้แก่วิทยาเขตหาดใหญ่ พระพุทธหลวงพ่อเพชร พระราชทานให้แก่วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ส่วนวิทยาเขตปัตตานีนั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ประทานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรทรงเครื่อง เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บุคลากรและนักศึกษาที่เป็นพุทธศาสนิกชน

   พระพุทธหลวงพ่อเพชร
        เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประดิษฐานเป็นพระบูชาอยู่ที่วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เป็นของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
พระพุทธหลวงพ่อพระเสริม
                เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานเป็นพระบูชาอยู่ที่สำนักงานอธิการบดี วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรทรงเครื่อง (พระพุทธทักษิณสมานฉันท์)
                ประดิษฐานอยู่ที่พระมณฑปในบริเวณสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา วิทยาเขตปัตตานี เป็นของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
                พระมณฑปได้จัดสร้างเมื่อปี 2539 และได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์พระมณฑป เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2539
                หลังจากนั้น ได้ดำเนินการขอพระราชทานนามพระพุทธรูปจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และได้รับพระกรุณาธิคุณพระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธทักษิณสมานฉันท์” ซึ่งมีพิธีอัญเชิญองค์พระประดิษฐานในพระมณฑปพร้อมกับมีพิธีสมโภช เมื่อวันอังคารที่ 29 กันยายน 2541

เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย..รศ.ผดุงยศ ดวงมาลา
(รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา กีฬา และวัฒนธรรม)
และ อาจารย์ ม.ร.ว.ประกายฉัตร สุขสวัสดิ์
เรียบเรียงข้อมูลโดย...พามดา โสตถิพันธุ์

ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ แผนที่

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน