เฉลยปัญหาประจำเดือน กรกฎาคม 2551

ปัญหาข้อที่ 1 :  
   
คำถาม      : “ช่อศรีตรังสะพรั่งบานทุกก้านกิ่ง            คอยเป็นมิ่งขวัญใจให้ถวิล
รำลึกค่าสงขลานครินทร์                          เทิดทูนถิ่นที่รักเป็นหลักชัย”
   
  เพลงนี้ (ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นแรก อัดเสียงเมื่อปี พ.ศ. 2527) ชื่อเพลงอะไร และใครเป็นผู้ขับร้อง
   
คำตอบ      : ชื่อเพลง “ร่มศรีตรัง” ขับร้องโดย “สุเทพ วงศ์กำแหง”
{audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song51/RomSriTrang-july08-full.mp3{/audio}

เกร็ดความรู้

               ก่อนหน้าที่ผมจะมาอยู่ ม.อ. เพลงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ผมนิยมชมชอบอย่างมากคือเพลง “เขตรั้วสีบลู” ซึ่งเพลงนี้ เป็น 1 ใน 4 เพลงที่วงดนตรีสุนทราภรณ์แต่งขึ้นให้กับมหาวิทยาลัยของเราในยุคแรกเริ่ม
               ผมมารู้จักและคุ้นเคยกับเพลง “ร่มศรีตรัง” เมื่อผมเริ่มมาทำงานที่ ม.อ.
               ผมจำได้ว่า ปี 2517 เป็นปีที่ผมมาทำงานที่ ม.อ. หาดใหญ่ ขณะนั้นมีคณะเพียงแค่ 2 คณะ คือคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์
               อาคารเรียนมีเพียงไม่กี่หลัง นักศึกษาและอาจารย์ทั้ง 2 คณะ รวมกันแล้วมีจำนวนไม่ถึง 1,000 คน อาจารย์ส่วนใหญ่เพิ่งจบปริญญาตรี และเริ่มเข้าทำงาน ช่วงนั้นจึงเป็นช่วงที่อาจารย์ ซึ่งอยู่ในวัยหนุ่มสาว ลาไปศึกษาต่อเพื่อเพิ่มพูนความรู้ และการเดินทางที่สะดวกที่สุดในยุคนั้นก็คือการเดินทางโดยรถไฟ
               ด้วยความผูกพันระหว่างอาจารย์กับศิษย์ที่มีต่อกันอย่างลึกซึ้งในสมัยนั้น ไม่ว่าอาจารย์คนใดจะไปศึกษาต่อ ลูกศิษย์จะรวมกลุ่มกันไปส่งที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ ทันทีที่เสียงระฆังบอกสัญญาณรถออกดังขึ้น และรถไฟเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากสถานี เสียงเพลง “ร่มศรีตรัง” ก็ดังกังวานขึ้น....



“ถิ่นพักใจใดจะปานเหมือนบ้านเกิด เราทูนเทิดแนบใจไม่สลาย
น้ำใจห่วงหวงหามิคลาคลาย ต่างมิหน่ายเหือดแล้งแหล่งไม่ตรี”

 

               ผู้คนในชานชลาจะเงียบกริบ และเพ่งสายตามาที่จุดจุดเดียวตรงหัวขบวนโบกี้รถไฟ จะเห็นอาจารย์ที่มีพวงมาลัยคล้องคอ ยกมือขึ้นโบกอำลา โดยที่น้ำตาค่อยๆ หยาดไหลลงมาสองข้างแก้ม


ร่มศรีตรังยังเพรียกร่ำเรียกหา ลูกสงขลานครินทร์อยู่ถิ่นไหน
แม้ห่างกันพันแสนด้าวแดนใด มอบดวงใจที่ร่มศรีตรัง”
 

 

                เสียงเพลงนี้ค่อยๆ แผ่วจางลง เมื่อขบวนรถไฟค่อยๆ ลับหายไปจากสายตา ขณะที่ผู้คนก็ค่อยๆ ทยอยเดินออกจากสถานี
                บรรยากาศอันประทับใจนี้ ได้ปรากฏให้เห็นแทบจะทุกครั้งที่อาจารย์ลาไปศึกษาต่อ เป็นเวลาต่อมาอีกหลายปี ก่อนจะถูกกลืนหายไปกับกาลเวลาในปัจจุบัน
                เสียงเพลงจากบรรดาศิษย์ในประโยคที่ว่า “มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” ได้ประทับแน่นในความรู้สึกของผู้เป็นอาจารย์ตั้งแต่วันนั้น ตราบจนเมื่อกลับมาจากศึกษาต่อแล้ว มักจะมาทำงานอยู่ที่ ม.อ. และสอนลูกศิษย์อยู่จนปลดเกษียณ
               เพลง “ร่มศรีตรัง” ผู้ประพันธ์คำร้องคือ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มะเนาะ ยูเด็น1 ผู้ประพันธ์ทำนองคือ “อาจารย์ปราโมทย์ กระมุท2
               เพลงร่มศรีตรังนี้ นักศึกษาได้นำมาร้องต่อๆ กันมา โดยในขณะนั้นยังไม่มีการบันทึกเสียงใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยความประทับใจในความไพเราะของเพลงเพลงนี้ ผมจึงนำเพลงนี้ไปให้ “คุณมนตรี สุปัญโญ3 หรือ “พี่หมู” หัวหน้าวงดนตรี “จามรี” ซึ่งขณะนั้นเล่นดนตรีอยู่ที่อะลาดินไนต์คลับ และห้องอาหารบุหงา โรงแรมโฆษิต หาดใหญ่ นำเอาเพลงนี้ไปเขียนโน้ต พี่หมูมักจะเล่นเพลงนี้เมื่อเห็นชาว ม.อ. เข้าไปในห้องอาหาร จนกระทั่งเพลงนี้เป็นที่รู้จักและชื่นชอบของคนทั่วไป ไม่เพียงเฉพาะคน ม.อ. เท่านั้น


เทปเพลง มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง

                เมื่อปี พ.ศ. 2527 สมาคมนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้จัดทำเทปเพลงชุด “มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” และมอบให้ผมเป็นผู้ประสานงานการจัดทำเพลง “ร่มศรีตรัง” จึงถูกนำไปบันทึกเสียงเป็นครั้งแรก ที่ห้องบันทึกเสียงศรีสยาม ดินแดง กทม. โดยมี “คุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์4 เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน
                ก่อนนำเพลงนี้ไปบันทึกเสียงที่กรุงเทพฯ ผมได้ปรึกษากับพี่หมูถึงผู้ที่เหมาะสมจะร้องเพลงเพลงนี้ พี่หมูได้ตอบผมอย่างมั่นอกมั่นใจว่า “พี่เทพ” โดยให้เหตุผลว่า เสียงที่นุ่มนวลและมีเสน่ห์ของ “คุณสุเทพ วงศ์กำแหง5 จะช่วยสร้างความรู้สึกและถ่ายทอดอารมณ์ของเพลงเพลงนี้ ได้ดีกว่านักร้องท่านอื่นๆ
               อนึ่ง เนื่องจากเงื่อนไขข้อจำกัดทางด้านเวลา ประกอบกับความเร่งรีบในการดำเนินการ จึงทำให้มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นคือ จังหวะของเพลงนี้ ซึ่งเดิมพี่หมูตั้งใจให้เป็น Slow Waltz กลับกลายเป็น Quick Waltz ไปอย่างน่าเสียดาย อย่างไรก็ตาม เพลงนี้เมื่อบันทึกเสียงเรียบร้อยแล้วก็มีความไพเราะไปอีกแบบหนึ่ง ทั้งนี้ด้วยความสามารถของคุณสุเทพ วงศ์กำแหง นักร้องระดับบรมครูของวงการเพลง
               เพลง “ร่มศรีตรัง” เวอร์ชั่นที่คุณสุเทพ วงศ์กำแหง เป็นผู้ขับร้องนี้ ได้ถูกนำมารวมไว้อีกครั้งในเทปและซีดีเพลงชุด “ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชชนก” ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544
        

เทปและซีดีเพลงชุด ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชชนก

หลังจากนั้น เพลงนี้ก็ถูกนำกลับมาบันทึกเสียงใหม่อีกถึง 2 ครั้ง โดยนักร้องหญิงที่มีชื่อเสียง 2 ท่าน ซึ่งผมจะนำมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป
1. ผู้ช่วยศาสตราจารยมะเนาะ ยูเด็น
              อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีผลงานบทกวีที่มีความไพเราะมากมาย ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว

 

2. อาจารย์ปราโมทย์ กระมุท
            อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เคยดำรงตำแหน่งรักษาการคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. 2540 และ เป็นผู้อำนวยการหอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ปี พ.ศ. 2532- 2539 ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว

 

3. มนตรี สุปัญโญ หรือที่บุคลากรรุ่นแรกๆ ของ ม.อ.จะรู้จักในนาม “พี่หมู” 
              นับเป็นผู้มีคุณูปการกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในด้านการจัดทำเพลงมหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง จนสามารถกล่าวได้ว่า เพลงของ มอ. ทุกเพลง (ยกเว้น 4 เพลงดั้งเดิมที่วงสุนทราภรณ์แต่งให้) เกิดขึ้นได้เพราะพี่หมู ท่านได้เสียสละให้คำปรึกษาแนะนำ หลักวิชาการดนตรีและบทเพลง รวมทั้งจัดทำโน้ต จนกระทั่งงานเพลงของมหาวิทยาลัยสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี นอกจากนั้นแล้ว เมื่อมหาวิทยาลัยจัดงานใดๆ พี่หมูจะมาเล่นดนตรีให้ โดยไม่คิดค่าตอบแทนอยู่เป็นนิจสิน
มนตรี สุปัญโญ เป็นที่รู้จักกันดีในวงการดนตรีเมืองไทย ได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถเป็นเลิศทางดนตรี และเล่นดนตรีได้หลายประเภท คุณมนตรีเกิดในตระกูลศิลปิน เป็นพี่ชายของคุณฉันทนา กิติยพันธ์ คุณสรายุทธ สุปัญโญ และเป็นลุงของคุณเสาวลักษณ์ ลีละบุตร (แอม)

 

4. พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์          
                  ครูเพลง นักเรียบเรียงเสียงประสานชื่อดัง เจ้าของผลงานเพลงที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน และรางวัลเสาอากาศทองคำมากมาย อาทิ
                              เพลง “ไทยธำรงไทย”                       ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2514
                              เพลง “น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ”             ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2518
                              เพลง “ตะแลงแกงแทงใจ”                    ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2520
                              เพลง “พะวงรัก”                              ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2521
                              เพลง “สุดเหงา”                               ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2525
5. คุณสุเทพ วงศ์กำแหง
                 ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) พ.ศ. 2533 เป็นศิลปินนักร้องเพลงไทยสากลที่มีผลงานดีเด่นเป็นเวลาต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำ ในฐานะนักร้องยอดเยี่ยมถึง 2 ครั้ง มีผลงานเพลงที่ได้รับการบันทึกแผ่นเสียงและได้รับความนิยมไม่ต่ำกว่า 1,000 เพลง และยังคงความเป็นอมตะมาจนทุกวันนี้ มีหลายเพลงที่อยู่ในความทรงจำของแฟนเพลง อาทิ รักคุณเข้าแล้ว, บ้านเรา, เท่านี้ก็ตรม, พี่ยังรักเธอไม่คลาย, คืนนี้พี่คอยเจ้า, โลกนี้คือละคร, นางใจ, จงรัก, คนเดียวในดวงใจ,เสน่หา ฯลฯ

 

ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 
ปัญหาข้อที่ 2 : 
   
คำถาม     : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นจำนวนกี่ครั้ง
   
คำตอบ     : ค) 10 ครั้ง
   

เกร็ดความรู้

                สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นจำนวน 9 ครั้งติดต่อกัน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา จนถึงปี พ.ศ. 2540
                แต่ก่อนหน้านั้น ในปี พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ (ซึ่งในครั้งนั้นเป็นพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ครั้งที่ 11 ซึ่งพระองค์ท่านเสด็จมาเป็นครั้งแรก) ดังนั้น เมื่อรวมทั้งหมด จึงเป็นจำนวน 10 ครั้ง ตามลำดับดังนี้

ครั้งที่ 11 วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2525

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2524 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
               มีผู้สำเร็จการศึกษา
                          • ระดับมหาบัณฑิต จำนวน 6 คน
                          • ระดับบัณฑิต จำนวน 1,051 คน

ครั้งที่ 18 วันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2532

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2531 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
               มีผู้สำเร็จการศึกษา
                            • ระดับมหาบัณฑิต จำนวน 31 คน
                            • ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต จำนวน 4 คน
                            • ระดับบัณฑิต จำนวน 1,397 คน
                            • ระดับอนุปริญญา จำนวน 229 คน
                ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติถวายปริญญาพยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีด้วย

ครั้งที่ 1 9 วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2533

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2532 ณ โรงยิมเนเซียม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                มีผู้สำเร็จการศึกษา
                             • ระดับมหาบัณฑิต จำนวน 44 คน
                             • ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต จำนวน 6 คน 
                             • ระดับบัณฑิต จำนวน 1,471 คน 
                             • ระดับอนุปริญญา จำนวน 210 คน
                ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติถวายปริญญาทันตแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีด้วย

ครั้งที่ 20 วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2534

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2533 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
               มีผู้สำเร็จการศึกษา
                             • ระดับมหาบัณฑิต จำนวน 96 คน
                             • ระดับบัณฑิต จำนวน 1,530 คน
                             • ระดับอนุปริญญา จำนวน 220 คน

                  ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล นายกสภามหาวิทยาลัยทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เกษตรศาสตร์) แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีด้วย


ครั้งที่ 21 วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2535

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2534 ณ ห้องทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
               มีผู้สำเร็จการศึกษา
                            • ระดับมหาบัณฑิต จำนวน 61 คน
                            • ระดับบัณฑิต จำนวน 1,477 คน
                            • ระดับอนุปริญญา จำนวน 242 คน
               ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (คหกรรมศาสตร์) แด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วย

ครั้งที่ 22 วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2536

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2535 ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
               มีผู้สำเร็จการศึกษา
                            • ระดับมหาบัณฑิต จำนวน 132 คน
                            • ระดับบัณฑิต จำนวน 1,636 คน
                            • ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต จำนวน 8 คน

ครั้งที่ 23 วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2537

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2536 ณ ห้องทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
              มีผู้สำเร็จการศึกษา
                           • ระดับมหาบัณฑิต จำนวน 185 คน
                           • ระดับบัณฑิต จำนวน 1,803 คน
                           • ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต จำนวน 1 คน
               ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ประวัติศาสตร์) แด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ด้วย

ครั้งที่ 24 วันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2538

                เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2537 ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
               มีผู้สำเร็จการศึกษา
                             • ระดับมหาบัณฑิต จำนวน 200 คน
                             • ระดับบัณฑิต จำนวน 2,038 คน

ครั้งที่ 25 วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2539

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2538 ณ โรงยิมเนเซียม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
               มีผู้สำเร็จการศึกษา
                             • ระดับมหาบัณฑิต จำนวน 273 คน
                             • ระดับบัณฑิต จำนวน 2,062 คน
               ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ประวัติศาสตร์) แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วย

ครั้งที่ 26 วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2540

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2539 ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

              มีผู้สำเร็จการศึกษา
                     • ระดับมหาบัณฑิต จำนวน 322 คน
                     • ระดับบัณฑิต จำนวน 1,972 คน
               ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล นายกสภามหาวิทยาลัย ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (รัฐศาสตร์) แด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วย
 

เรียบเรียงและตรวจสอบข้อมูลโดย...อ.มนัส กันตวิรุฒ

ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ แผนที่

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน