เฉลยปัญหาประจำเดือน พฤศจิกายน 2551

ปัญหาข้อที่ 1 :  
   
คำถาม      : “ถึงเวลาส่งนางฟ้ากลับสวรรค์                         ที่แห่งนั้นงามดังฝันและดูสุดแสนไกล
ยามคิดถึงให้คิดทำดีร่วมมีร่วมจุดหมาย         นางฟ้าไกลไกล ท่านคงยังอยู่ข้างๆ เรา
                        นางฟ้าองค์เดิม ท่านคงยังอยู่ข้างๆ เรา”

เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร และใครเป็นผู้ขับร้อง
   
คำตอบ : เพลงนี้เป็นเพลงที่จัดทำขึ้นเพื่อระลึกถึงสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องในโอกาสจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ
   
คำตอบ      : เพลง “ส่งนางฟ้ากลับสวรรค์” ขับร้องโดย “ธงชัย แมคอินไตย์”
{audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song51/Songnangfah_Vocal_By_Thongchai.mp3{/audio}

เกร็ดความรู้

               สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดทำเพลงเพื่อระลึกถึงสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องในโอกาสการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ ในบทเพลงที่ชื่อว่า “ส่งนางฟ้ากลับสวรรค์” ซึ่งประพันธ์คำร้องโดย นายนิติพงษ์ ห่อนาค ประพันธ์ทำนองโดย นายอภิไชย เย็นพูนสุข และขับร้องโดย นายธงไชย แมคอินไตย์ เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยได้ร่วมกับรัฐบาลถวายพระเกียรติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์




ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 
ปัญหาข้อที่ 2 : 
   
คำถาม     : สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นพระอาจารย์สอนวิชาภาษาฝรั่งเศสที่คณะใด และวิทยาเขตใดของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
   
คำตอบ     : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
   

เกร็ดความรู้

               หอประวัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขอถือโอกาสนี้ น้อมรำลึกถึงพระเมตตาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่มีต่อมหาวิทยาลัย เมื่อครั้งพระองค์ท่านทรงทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์สอนวิชาภาษาฝรั่งเศสแก่นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. 2523 ซึ่งเป็นเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา












               พระจริยวัตรอันงดงาม และความไม่ถือพระองค์ ซึ่งถูกบันทึกไว้ในหนังสือพิมพ์ “คมชัดลึก” ฉบับประจำวันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2551 โดย ผศ.ดร.อุบลวรรณ โชติวิสิทธิ์ นักเรียนทุนส่วนพระองค์ ปริญญาเอกสาขาภาษาฝรั่งเศส และอาจารย์แผนกวิชาภาษาฝรั่งเศส คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ. ปัตตานี ได้ให้สัมภาษณ์ มีใจความตอนหนึ่งว่า 

                               หลังจากอาจารย์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากสหรัฐอาณาจักร ในปี พ.ศ. 2521 ก็ได้เข้าทำงานในกองสัมพันธ์ต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ
                              แต่ด้วยปณิธานที่มุ่งมั่นจะเป็น “ครู” อย่างแรงกล้า จึงเขียนจดหมายส่งไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ในต่างจังหวัดทั่วทุกภูมิภาค กระทั่งได้รับการตอบรับจาก ม.อ.ปัตตานี จึงตัดสินใจมุ่งหน้าลงใต้ทันที....
                              กาลเวลาล่วงเลยไปเพียง 1 ปี อาจารย์สาวรุ่นใหม่ไฟแรงที่บ่ายหน้าจากเมืองหลวงสู่ดินแดนปลายด้ามขวาน ก็ได้มีโอกาสครั้งสำคัญในชีวิต เมื่อนำนักศึกษาไปแสดงละครภาษาฝรั่งเศสเรื่อง “เจ้าชายน้อย” ต่อหน้าพระพักตร์ที่โรงเรียนวรนารีเฉลิม จ.สงขลา
                              เมื่อกลับมามหาวิทยาลัย อาจารย์ก็ตระหนักว่า ม.อ.ปัตตานีในยุคนั้น ขาดแคลนครูด้านภาษาฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก และทราบว่าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงพระปรีชาสามารถในด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาฝรั่งเศส ทั้งยังทรงดำรงตำแหน่ง “นายกสมาคมครูฝรั่งเศส” จึงตัดสินใจขอพระราชทานความช่วยเหลือด้วยการ “เขียนจดหมาย” ถึงพระองค์เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสได้สัมผัสกับครูผู้สอนซึ่งเป็นเจ้าของภาษาโดยตรง
                             อาจารย์อุบลวรรณ ถวายจดหมายผ่านราชเลขาฯ ส่วนพระองค์ โดยใจความของจดหมายเท่าที่จำได้คือ
                           “...ข้าพเจ้าจบการศึกษาจากอังกฤษมาสอนหนังสือได้ไม่นาน มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีความต้องการอาจารย์ภาษาฝรั่งเศส แต่หายากมาก จึงขอพระราชทานความช่วยเหลือ...”
                            หลังจากนั้นไม่นาน อาจารย์ได้รับการประสานผ่านทางคุณหญิงวงจันทร์ พินัยนิติศาสตร์ ให้เดินทางมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ที่วังสระปทุม ซึ่งถือเป็นการเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์
                           “พระองค์พระราชทานที่นั่งในรถส่วนพระองค์ เสด็จไปยังร้านอาหารดรรชนี โดยพระราชทานพระอนุญาดให้ดิฉันร่วมโต๊ะเสวยเป็นการส่วนพระองค์ด้วย ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นดีใจอย่างหาที่สุดมิได้ เพราะพระองค์ท่านประทับในรถคันเดียวกับสามัญชน และทรงเป็นกันเอง ไม่ถือพระองค์” ผศ.ดร.อุบลวรรณ เล่าถึงประสบการณ์อันล้ำค่าที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต
                            ต่อมา พระองค์ท่านยังมีพระดำรัสอีกประโยคหนึ่ง ซึ่งยังความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงให้แก่ชาว ม.อ.ปัตตานี
                           “เราหาครูภาษาฝรั่งเศสให้ไม่ได้.....แต่ยินดีจะไปทำหน้าที่สอนหนังสือให้ที่มหาวิทยาลัย”
                            แค่นั้นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้อาจารย์ยิ้มอย่างมีความสุข...ด้วยหัวใจอันพองโตตลอดเส้นทางรถไฟขากลับกรุงเทพฯ – ปัตตานี
                            เมื่อกลับถึงมหาวิทยาลัย ก็ไม่รอช้าที่จะแจ้งข่าวอันเป็นมงคลยิ่งนี้แก่ทางผู้บริหาร และอาจารย์คนอื่นๆ ทราบ เพื่อที่จะได้ช่วยกันจัดเตรียมที่ประทับรับรองให้เสร็จโดยเร็ววัน


ภายในห้องซึ่งเคยเป็นที่ประทับรับรอง ซึ่งปัจจุบันเป็นสโมสรบุคลากร

                            โดยทางมหาวิทยาลัยได้ปรับแต่งเรือนสโมสรอาจารย์ (ในขณะนั้น) ให้เป็นที่ประทับรับรอง โดยคณาจารย์และบุคลากรในมหาวิทยาลัย ร่วมแรงร่วมใจกันลงมือดำเนินการจนสำเร็จทันการรับเสด็จอย่างฉิวเฉียดชนิดสีอาคารยังไม่หาย
                           “พระองค์พอพระทัยในการเตรียมที่ประทับรับรอง และยังพระราชทานเลี้ยงอาหารแก่คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยอีกด้วย ซึ่งสร้างความปลื้มปิติให้แก่ครูต่างจังหวัดอย่างพวกเราเป็นอย่างมาก” ผศ.ดร.อุบลวรรณ รำลึกถึงวันวานด้วยสีหน้าเปี่ยมสุข
                           ในครั้งนั้น สมเด็จพระพี่นางเธอฯ ทรงสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสแก่นักเรียนรุ่นแรกจำนวน 30 คน และผศ.ดร.อุบลวรรณ ก็ขอพระราชทานพระอนุญาตเข้าเป็น “ลูกศิษย์” ในชั่วโมงแรกของทูลกระหม่อมอาจารย์ด้วย
                           ผศ.ดร.อุบลวรรณ เล่าว่า ระยะเวลากว่าสิบวันของทูลกระหม่อมอาจารย์ ทำให้ได้เห็นพระปรีชาสามารถในการเป็น “ครู” ที่เธอยังยึดถือเป็นแนวทางในการสอนหนังสือมาจนถึงวันนี้
                          “พระองค์จะใช้วิธีตั้งคำถามแก่ผู้เรียนและร่วมกันหาคำตอบ ซึ่งวิธีการนี้นักศึกษาจะตื่นตัวและต้องทำการบ้านก่อนเข้าชั้นเรียนเสมอ ที่สำคัญทูลกระหม่อมอาจารย์พระทัยเย็น และทรงเป็นกันเองมาก เด็กคนไทยไม่รู้ก็จะได้รับคำสอน อีกทั้งยังทรงติดตามผลการเรียนของนักศึกษาทั้ง 30 คนอย่างใกล้ชิด” ผศ.ดร.อุบลวรรณ กล่าวถึงทูลกระหม่อมอาจารย์ด้วยความเทิดทูน
                          ทั้งนี้ นอกเหนือจากพระจริยวัตรการสอนหนังสือนักศึกษาภาคภาษาฝรั่งเศสใน ม.อ.ปัตตานี แล้ว พระองค์ยังทรงพระดำเนินภายในมหาวิทยาลัยโดยไม่มีผู้ติดตาม เพื่อทอดพระเนตรวิถีชีวิตของนักศึกษาและคณาจารย์ในสถาบันอย่างใกล้ชิด เป็นการส่วนพระองค์อีกด้วย
                         “ทุกเย็นพระองค์จะพระราชทานพระอนุญาตให้อาจารย์แต่ละภาควิชามีโอกาสร่วมโต๊ะเสวยแบบสลับหมุนเวียนทั้งมหาวิทยาลัยอย่างเป็นกันเองโดยไม่ถือพระองค์ พร้อมทรงแนะการเข้าถึงหัวใจการสอนเพื่อให้การศึกษาสัมฤทธิ์ผลที่สุด”
                          ผศ.ดร.อุบลวรรณ เล่าอีกว่า ในวันสุดท้ายก่อนเสด็จกลับ พระองค์ได้พระราชทานพระอนุญาตให้เข้าเฝ้า มีพระดำรัสกับคณาจารย์ รวมทั้งลูกศิษย์ ด้วยความสนพระทัย ซึ่งแนวทางในการสอนของพระองค์ยังคงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คณาจารย์ใน ม.อ. ปัตตานี มาจนถึงทุกวันนี้


ผศ.ดร.อุบลวรรณ โชติวิสิทธิ์
ทูลกระหม่อมอาจารย์ประทับอยู่กับลูกศิษย์ทุกคนอยู่ใกล้ๆ มิเคยห่างจากพวกเราไปไหน พระองค์จะสถิตอยู่ในใจของพวกเราตลอดไป”

เรียบเรียงและตรวจสอบข้อมูลโดย...อ.มนัส กันตวิรุฒ

ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ แผนที่

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน