เฉลยปัญหาประจำเดือน ตุลาคม 2551

ปัญหาข้อที่ 1 :  
   
คำถาม      : “คำว่าจาก ไม่อยากได้ยิน               เสียงคอยเตือนถวิล น้ำตาร่วงรินลาหลั่ง
เตือนดวงใจ ยามไกลอีกครั้ง           ยังไม่ลืมความหลัง ยังไม่ลืม”

เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร และใครเป็นผู้ขับร้อง
   
คำตอบ      : เพลง “ยังไม่ลืมศรีตรัง” ขับร้องโดย “ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา”
{audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song51/YangMaiLumSritrang-oct08-full-mp3.mp3{/audio}

เกร็ดความรู้

               ในเทปเพลงมหาวิทยาลัยชุด “มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2527 นั้น นอกจากจะมีเพลง “แดนสรวง” เป็นเพลงลาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แล้ว ยังมีเพลง “ยังไม่ลืมศรีตรัง” ซึ่งถือว่าเป็นเพลงลาที่มีความไพเราะมากอีกเพลงหนึ่ง



               หากฟังเพลงนี้ ต่อไปจนจบเพลง จะเห็นว่าเนื้อร้องทุกตอนแฝงไว้ด้วยความหมายที่ลึกซึ้ง ประทับใจ จนน้ำตาไหลออกมาโดยไม่รู้สึกตัว
               ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงเพลงนี้ คือ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์มะเนาะ ยูเด็น1 โดยมี “อาจารย์ปราโมทย์ กระมุท2 เป็นผู้ให้ทำนอง
               จุดเด่นของเพลง “ยังไม่ลืมศรีตรัง” คือ อินโทร (Intro) ดนตรีที่ขึ้นต้นก่อนเริ่มเพลงท่อนแรก จะมีความหวานซึ้งและเศร้าอยู่ในลีลาของเพลง ฟังแล้วไพเราะจับใจ ทั้งนี้ ด้วยฝีมือของครูเพลงระดับแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน “พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์3
                ในการบันทึกเสียงเมื่อปี พ.ศ.2527 นั้น ผมได้ตัดสินใจที่จะเลือก “คุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวา4 เป็นผู้ขับร้องเพลง “ยังไม่ลืมศรีตรัง” เนื่องจากเคยประทับใจกับเพลง “เดือนต่ำดาวตก” ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “ดรรชนีนาง” ที่คุณทนงศักดิ์เป็นผู้ขับร้องมาแล้ว
                ผมยังจำวันที่มีการบันทึกเสียงเพลง “ยังไม่ลืมศรีตรัง” ได้เป็นอย่างดี วันนั้น พี่ปื๊ด (ทนงศักดิ์) บินกลับมาจากเชียงใหม่ และลงจากเครื่องที่สนามบินดอนเมือง ก็นั่งรถมาที่ห้องบันทึกเสียงศรีสยามเลย
                พี่ปื๊ดใช้เวลาซ้อมเพลงนี้ เพียงแค่ 3 ครั้ง จากนั้นก็เดินตรงเข้าห้องบันทึกเสียง

 



คุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวา กำลังซ้อมเพลง “ยังไม่ลืมศรีตรัง” กับคุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
ในห้องบันทึกเสียงศรีสยาม กทม. เมื่อปี พ.ศ. 2527


               หลังจากบันทึกเสียงเสร็จ พี่ปื๊ดหันมาถามผมว่า “อาจารย์ เป็นอย่างไรบ้าง ใช้ได้หรือยัง” ผมได้แต่เพียงตอบกลับไปว่า “แล้วแต่พี่ปื๊ดก็แล้วกันครับ” ทั้งๆ ที่ในใจผมเองคิดว่าดีเยี่ยมอยู่แล้ว แต่พี่ปื๊ดกลับหันมาบอกพี่พิมพ์ (พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์) ว่า “ถ้าอย่างนั้น ขออีกเที่ยวดีกว่า”
               ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา เป็นนักร้องคุณภาพที่พิถีพิถันกับงานเพลงเป็นอย่างมาก ทุกครั้งที่ร้องเพลง พี่ปื๊ดจะใส่อารมณ์และความรู้สึกลงไปในเพลงอย่างเต็มที่ ดังจะเห็นได้จากเพลง “ยังไม่ลืมศรีตรัง” หากฟังให้ดี ตรงท่อนสุดท้ายของเพลงเพลงนี้ จะสังเกตเห็นว่า โทนเสียงที่บ่งบอกถึงอารมณ์และความรู้สึกอันลึกล้ำ โดยเสียงร้องจะค่อยๆ แผ่วลงและแผ่วลง จนจางหายไปในลำคออย่างไม่อาจจะกลั้น



“คำว่าจากไม่อยากได้ยิน เสียงคอยเตือนถวิล น้ำตาร่วงริน...ลาหลั่ง

                หลังจากบันทึกเสียงเพลง “ยังไม่ลืมศรีตรัง” ในวันนั้นแล้ว พี่ปื๊ดมีความประทับใจในเพลงเพลงนี้มาก ดังนั้น ไม่ว่าจะเจอผมครั้งใด หรือสถานที่ใดก็ตาม ประโยคแรกที่พี่ปื๊ดมักจะพูดกับผมอยู่เป็นประจำก็คือ 



“คำว่าจากไม่อยากได้ยิน”


เนื้อเพลงประโยคดังกล่าว จึงถือได้ว่า เป็นวรรคทองหรือเอกลักษณ์ของเพลงเพลงนี้มาตราบเท่าทุกวันนี้

1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์มะเนาะ ยูเด็น
               อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีผลงานบทกวีที่มีความไพเราะมากมาย ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว

 

2. อาจารย์ปราโมทย์ กระมุท
               อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เคยดำรงตำแหน่งรักษาการคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. 2540 และ เป็นผู้อำนวยการหอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ปี พ.ศ. 2532- 2539 ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว
3. พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
                ครูเพลง นักเรียบเรียงเสียงประสานชื่อดัง เจ้าของผลงานเพลงที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน และรางวัลเสาอากาศทองคำมากมาย อาทิ
                             เพลง “ไทยธำรงไทย” ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2514
                             เพลง “น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ” ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2518
                             เพลง “ตะแลงแกงแทงใจ” ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2520
                             เพลง “พะวงรัก” ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2521
                             เพลง “สุดเหงา” ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2525

 

4. ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา
               ศิลปินมากความสามารถ มีผลงานด้านร้องเพลง แสดงภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ มากมาย เพลงแรกที่ร้องอัดแผ่นเสียงคือ “เอื้องดอกฟ้า” มีลีลาการร้องทอดเสียง ออดอ้อน มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองจนได้รับฉายานักร้องเสียงระทม เพลงที่ร้องล้วนแล้วได้รับความนิยมทั้งสิ้น อาทิ เดือนต่ำดาวตก หอรักหอร้าง นารี อยู่เพื่อคอยเธอ วันคอย นกเอี้ยงจ๋า ยามชัง เพื่อความรัก ไกลชู้ ฐานันดรรัก ดึกเอยดึกแล้ว ไม่รักไม่ว่า ฯลฯ
                - เป็นอดีตหนึ่งในสมาชิกวงดนตรี “สามศักดิ์”
                - ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึง 3 ครั้ง
                   จากเพลงแมวเหมียว ใกล้เข้ามาแล้ว และ ไร้อารมณ์
ได้รับรางวัลเกียรติบัตรประกาศเกียรติคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เป็นผู้ขับร้องเพลงไทยสากล โดยใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องชัดเจนในปี พ.ศ. 2534

ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 
ปัญหาข้อที่ 2 : 
   
คำถาม     : สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาพระราชทาน ปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นจำนวนกี่ครั้ง (นับปีการศึกษา 2550 ด้วย)
ก) 5 ครั้ง ข) 11 ครั้ง
   
คำใบ้ : ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้จากหนังสือ “ครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์”
   
คำตอบ     : ข) 11 ครั้ง
   

เกร็ดความรู้

               สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นจำนวน 11 ครั้งติดต่อกัน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2551 (ซึ่งเป็นปีล่าสุด)

ครั้งที่ 27 วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2541

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2540 ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและห้องสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

                     มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                 • ระดับปริญญาโท จำนวน 491 คน
                                • ระดับประกาศนียบัตรสูงกว่าปริญญาตรี จำนวน 17 คน
                                • ระดับปริญญาตรี จำนวน 2,059 คน

ครั้งที่ 28 วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2542

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2541 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

                          มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                       • ระดับปริญญาเอก จำนวน 2 คน
                                       • ระดับปริญญาโท จำนวน 378 คน
                                       • ระดับประกาศนียบัตรสูงกว่าปริญญาตรี จำนวน 4 คน
                                       • ระดับปริญญาตรี จำนวน 2,731 คน

ครั้งที่ 29 วันพุธที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2543

                เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2542 ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและห้องสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                          มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                         • ระดับปริญญาเอก จำนวน 2 คน
                                         • ระดับปริญญาโท จำนวน 423 คน
                                         • ระดับประกาศนียบัตรสูงกว่าปริญญาตรี จำนวน 7 คน
                                         • ระดับปริญญาตรี จำนวน 3,252 คน
               ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติถวายปริญญาทันตแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้วย

ครั้งที่ 30 วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2544

                เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2543 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
                         มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                 • ระดับปริญญาเอก จำนวน 2 คน
                                 • ระดับปริญญาโท จำนวน 549 คน
                                 • ระดับปริญญาตรี จำนวน 3,440 คน

ครั้งที่ 31 วันเสาร์ที่ 21 – วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2545

              เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2544 ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและห้องสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                       มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                 • ระดับปริญญาเอก จำนวน 3 คน
                                 • ระดับปริญญาโท จำนวน 699 คน
                                 • ระดับปริญญาตรี จำนวน 3,120 คน

               ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรพยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ พระเจ้า วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ด้วย


ครั้งที่ 32 วันอาทิตย์ที่ 21 – วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2546

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2545 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
                          มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                      • ระดับปริญญาเอก จำนวน 7 คน
                                      • ระดับปริญญาโท จำนวน 899 คน
                                      • ระดับปริญญาตรี จำนวน 2,879 คน

               ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ แด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วย

ครั้งที่ 33 วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2547

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2546 ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและห้องสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                          มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                    • ระดับปริญญาเอก จำนวน 12 คน
                                    • ระดับปริญญาโท จำนวน 1,134 คน
                                    • ระดับปริญญาตรี จำนวน 3,317 คน
               ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม แด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วย



ครั้งที่ 34 วันพฤหัสบดีที่ 15 – วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2548

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2547 ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและห้องสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                            มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                        • ระดับปริญญาเอก จำนวน 14 คน
                                        • ระดับปริญญาโท จำนวน 893 คน
                                        • ระดับปริญญาตรี จำนวน 4,085 คน
              ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติให้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญากิตติมศักดิ์ แด่พระบรมวงศานุวงศ์ 3 พระองค์
                                       - ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (อิสลามศึกษา) แด่
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร
                                       - ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ภาษาเพื่อการพัฒนา) แด่
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
                                        - ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ชีวเวชศาสตร์) แด่
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี


ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล นายกสภามหาวิทยาลัย ทูลเกล้าฯ
ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ชีวเวชศาสตร์) แด่
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี


ครั้งที่ 35 วันพฤหัสบดีที่ 21 – วันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2548 ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและห้องสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                         มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                      • ระดับปริญญาเอก จำนวน 21 คน
                                      • ระดับปริญญาโท จำนวน 919 คน
                                      • ระดับปริญญาตรี จำนวน 4,875 คน
               ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เกษตรศาสตร์) แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วย

ครั้งที่ 36 วันศุกร์ที่ 21 – วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2550

                 เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2549 ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและห้องสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                  มีผู้สำเร็จการศึกษา
                              • ระดับปริญญาเอก จำนวน 43 คน
                              • ระดับปริญญาโท จำนวน 1,070 คน
                              • ระดับปริญญาตรี จำนวน 5,117 คน

ครั้งที่ 37 วันอาทิตย์ที่ 21 – วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2550 ณ หอประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                    มีผู้สำเร็จการศึกษา
                              • ระดับปริญญาเอก จำนวน 54 คน
                              • ระดับปริญญาโท จำนวน 1,085 คน
                              • ระดับปริญญาตรี จำนวน 5,777 คน
                 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมเคมี) แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วย

เรียบเรียงและตรวจสอบข้อมูลโดย...อ.มนัส กันตวิรุฒ

ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ แผนที่

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน