เฉลยปัญหาประจำเดือน ธันวาคม 2551

ปัญหาข้อที่ 1 :  
   
คำถาม      : “จะแน่วแน่ แก้ไข ในสิ่งผิด              จะรักชาติ จนชีวิต เป็นผุยผง
จะยอมตาย หมายให้ เกียรติดำรง     จะปิดทอง หลังองค์ พระปฏิมา”

เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร
   
  เพลงนี้เป็นหนึ่งในบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
   
คำตอบ      : เพลง “ความฝันอันสูงสุด”
{audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song51/HighestDream-dec08-full.mp3{/audio}

เกร็ดความรู้

               เพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 43 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2514




                 ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เล่าไว้ในหนังสือ “ภิรมย์รัตน์” ว่า เมื่อตามเสด็จฯ ไปอยู่ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ พ.ศ. 2512 ได้รับพระราชเสาวนีย์จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้เขียนบทกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติ เพื่อประเทศชาติ

               “ข้าพเจ้าค่อยๆ คิดหาคำ กลั่นกรองให้ตรงกับความหมายเท่าที่จะสามารถ แล้วทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตร ทรงพระกรุณาติชม จนผลสุดท้ายออกมาเป็นกลอน 5 บท...
                ความบันดาลใจในเรื่องนี้มีที่มาจากการสังเกตของข้าพเจ้า ได้รู้เห็นพระราชอัธยาศัย พระราชจริยวัตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่เสื่อมคลาย”

                สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็กๆ พระราชทานข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี เพราะบ้านเมืองขณะนั้นยุ่งอลเวง น่าเป็นห่วงอนาคตของประเทศชาติ
                ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใส่ทำนองเพลงในคำกลอน “ความฝันอันสูงสุด” ดังที่เป็นเพลงพระราชนิพนธ์รู้จักกันแพร่หลายทุกวันนี้ นับเป็นเพลงพระราชนิพนธ์แรกที่ได้ทรงจากคำร้อง
                (จากหนังสือ “ดนตรีจากพระราชหฤทัย ศูนย์รวมใจแห่งปวงชน” จัดทำโดย คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำหนังสือรวมเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2539)

              

ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 
ปัญหาข้อที่ 2 : 
   
คำถาม     : นับตั้งแต่พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2515 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2551) สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีมติขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นจำนวนกี่ครั้ง
ก) 1 ครั้ง
ข) 2 ครั้ง
ค) 5 ครั้ง
   
คำใบ้ : ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้จากหนังสือ “ครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์”
   
คำตอบ     : ค) 5 ครั้ง
   

เกร็ดความรู้

               นับตั้งแต่พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2515 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2551) สภามหาวิทยาลัยได้มีมติขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นจำนวนทั้งสิ้น 5 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2515

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2513 และ 2514 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

               ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง อธิการบดี เชิญ ปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมเครื่องกล) ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วย


ครั้งที่ 25 วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2539

               สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา 2538 ณ โรงยิมเนเซียม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
               ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วย

ครั้งที่ 33 วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2547

               สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2546 ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและห้องสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
              ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วย

ครั้งที่ 35 วันพฤหัสบดีที่ 21 – วันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549

                สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2548 ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและห้องสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
               ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เกษตรศาสตร์) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วย

ครั้งที่ 37 วันอาทิตย์ที่ 21 – วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

              สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2550 ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและห้องสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
             ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมเคมี) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วย

เรียบเรียงและตรวจสอบข้อมูลโดย...อ.มนัส กันตวิรุฒ

ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ แผนที่

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน