เฉลยปัญหาประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2552

ปัญหาข้อที่ 1 :
 
คำถาม :
เทปเพลงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้จัดทำ โดยใช้ชุดว่า “ มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง ” จัดทำขึ้นใน พ.ศ. ใด
 
 
ก)      พ.ศ. 2513
ข)      พ.ศ. 2527
ค)      พ.ศ. 2544
   
   
คำใบ้ : ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ในเว็บไซต์ ของหอประวัติโดยคลิกไปที่ เฉลยปัญหาพร้อมเกร็ดความรู้ย้อนหลัง
   
คำตอบ : ข) พ.ศ. 2527
 
 

เกร็ดความรู้

 
            เทปเพลง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชุด “ มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง ” จัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยสมาคมนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้จัดทำ

            ความเป็นมาของการจัดทำเพลงชุดนี้ ผมยังจำได้ว่า ประมาณกลางปี พ.ศ. 2526 อาจารย์ประสาท มีแต้ม นายกสมาคมนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในขณะนั้น ได้มาพบและบอกกับผมว่า “ พี่ ผมอยากจะทำเทปเพลง ม.อ. สักชุดหนึ่งและอยากจะขอให้พี่ช่วย ” โดยอาจารย์ประสาทได้ยื่นกระดาษให้ผมปึกหนึ่ง ในกระดาษมีเนื้อร้องของเพลงไม่ต่ำกว่า 10 เพลง ซึ่งแต่งโดยอาจารย์และนักศึกษา  ม.อ. พร้อมกันนั้นได้ส่งเทปคาสเซ็ทให้ 1 ม้วน ซึ่งมีเสียงร้องของนักศึกษา ร้องให้ฟังเป็นตัวอย่างอยู่ในเทปม้วนนั้น

             หลังจากนั้น ผมได้นำเทปรวมทั้งเนื้อร้องไปปรึกษาหารือกับคุณมนตรี สุปัญโญ  หัวหน้าวงดนตรีจามรี  ซึ่งขณะนั้นเล่นอยู่ที่อะลาดิน
ไนต์คลับ โรงแรมโฆษิต หาดใหญ่ จนกระทั่งในที่สุด คุณมนตรี หรือ “พี่หมู” ซึ่งผมมีความสนิทสนมคุ้นเคยเป็นส่วนตัว ได้รับปากที่จะเป็นผู้ทำโน้ต และขัดเกลาเพลงต่างๆ ให้ถูกต้องตรงตามฉันทลักษณ์ทางด้านดนตรี

             3 เดือนต่อมา พี่หมูได้มอบโน้ตเพลงที่ทำเสร็จอย่างสมบูรณ์จำนวน 6 เพลงให้ผม ซึ่งเพลงทั้ง 6 เพลง ได้แก่เพลง ร่มศรีตรัง ลาร่มศรีตรัง  ยังไม่ลืมศรีตรัง  พริ้วศรีตรัง  ทะเลสีบลู  และแดนสรวง  เมื่อผมถามถึงเพลงอื่นๆ  ที่เหลือ  พี่หมูได้บอกอย่างสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า
“ เพลงต่างๆ เหล่านั้น เหมาะที่จะเก็บไว้ร้องฟังกันเองมากกว่า ”
 
            อีกไม่นานต่อจากนั้น  ผมได้นำโน้ตเพลงทั้ง  6  เพลง  เข้ากรุงเทพฯ  โดยไปพบกับนายแพทย์วีรชัย  ศิริพานิชย์  หมอนักแต่งเพลง    เพื่อขอความช่วยเหลือในการจัดทำเทปเพลง   ดังกล่าว  หมอวีรชัย  เป็นเพื่อนสนิทของผมสมัยที่เรียนอยู่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์  มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์  (ปัจจุบันคือคณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล) โดยหมอวีรชัย เข้าเรียนเตรียมแพทย์ และผมเข้าเรียนเตรียมทันตแพทย์

 
            หมอวีรชัยได้ให้ความช่วยเหลืออย่างดียิ่ง ตั้งแต่การวางแผนดำเนินงาน และเพื่อให้เพียงพอต่องบประมาณที่มีอยู่ หมอวีรชัย ได้ติดต่อนักร้องชั้นนำที่มีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้น คือ คุณสุเทพ วงศ์กำแหง คุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวา คุณจิตติมา เจือใจ คุณรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส คุณกิ่งกาญจน์ กาญจนา และคุณวินัย พันธุรักษ์ เป็นผู้ขับร้องเพลงชุดนี้โดยไม่คิดค่าตอบแทนและได้มอบหมายให้คุณกัลยา ศิริพานิชย์( กิ่งกาญจน์ กาญจนา ) ภรรยาคู่ชีวิตมาเป็นผู้ประสานงานกับนักร้องและนักดนตรี รวมทั้งอำนวยความสะดวกตลอดระยะเวลาการบันทึกเสียง ในห้องบันทึกเสียง

                นอกจากนั้นแล้วหมอวีรชัย ยังได้ติดต่อพี่พิมพ์ (พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์) นักเรียบเรียงเสียงประสานแผ่นเสียงทองคำมาจัดทำเพลงชุดนี้ให้ โดยขอให้คิดค่าตอบแทนในราคาถูกเป็นพิเศษอีกด้วย
  
ลายมือ  นพ.วีรชัย  ศิริพานิชย์
 
            และเพื่อให้เทปเพลงชุดนี้มีจำนวนเพลงครบ  10  เพลง  หมอวีรชัยได้ให้คำแนะนำว่า  ควรนำเพลง  ม.อ.  อีก  4  เพลง  ซึ่งแต่งไว้เดิมโดยวงดนตรีสุนทราภรณ์  มารวมไว้ด้วย

            การจัดทำเพลงชุดนี้  เสร็จสิ้นลงอย่างสมบูรณ์  เมื่อเดือนมีนาคม  2527  ในขณะที่หมอวีรชัยเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ด้วยโรคมะเร็งปอดในระยะสุดท้าย 

         นายแพทย์วีรชัย  ศิริพานิชย์  ได้จากไปอย่างสงบ  เมื่อคืนวันเสาร์ที่  5  พฤษภาคม   โดยผมในฐานะนายกสโมสรอาจารย์และข้าราชการ  ม.อ.  ได้นำพวงหรีดไปเคารพศพ  เพื่อเป็นการไว้อาลัย  ณ  วัดสุวรรณาราม  กรุงเทพฯ

            5 เดือนต่อมา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2527 สโมสรอาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดงาน “ ศรีตรังบานในดวงใจ ” โดยได้เชิญนักร้อง และนักดนตรีที่ให้ความช่วยเหลือในการจัดทำเทปเพลงชุด “ มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง ” มารับโล่เกียรติยศ จากรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อธิการบดี

นักร้องเกียรติยศถ่ายภาพพร้อม
กับอธิการบดี
ด.ญ.สิรกัญญา  ศิริพานิชย์  (น้องโน้ต) บุตรสาว 
นพ.วีรชัย  ศิริพานิชย์  เข้ารับโล่จากอธิการบดี

            ประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สมควรจะต้องบันทึกไว้ว่าบุคคลอีกท่านหนึ่งที่มีคุณูปการเกี่ยวกับการจัดทำเพลงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้แก่
 


ถ่ายทอดข้อมูล โดย อ.มนัส กันตวิรุฒ
 

 

ปัญหาข้อที่ 2 :
 
คำถาม :

บุคคล (ที่กำลังนั่ง) ในภาพคือใคร ให้ระบุชื่อและนามสกุลอย่างชัดเจน

 
 
คำใบ้:
บุคคลท่านนี้ เคยเป็นอธิการบดีคนหนึ่งของ ม.อ.ภาพนี้เป็นภาพที่ท่านกำลังรดน้ำอวยพรจากบุคลากร  เนื่องในโอกาสวันสงกรานต์ สมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งคณบดีคนที่ 2 ของคณะวิทยาศาสตร์
   
คำตอบ :

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพงษ์ ศรีพิพัฒน์

   

เกร็ดความรู้

 
 
              


ศาสตราจารย์ ดร.ศิริพงษ์ ศรีพิพัฒน์
          อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คนที่ 8
วาระการดำรงตำแหน่ง
           มิถุนายน 2534 - พฤษภาคม 2540 (2 วาระติดกัน)
ประวัติการศึกษา
  • Ph.D. (Mathematical Physics)  จาก Imperial colledge of Science and Tehnology มหาวิทยาลัย London (2509)
  • วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 22 (2522)
  • M.Ed จากมหาวิทยาลัย Illinois นคร Chicago มลรัฐ Illinois สหรัฐอเมริกา  (2514)
ปริญญากิตติมศักดิ์
  • ปริญญาศึกษาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (บริหารการศึกษา)จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2540)
ประวัติการทำงานที่สำคัญ
  • พ.ศ.2513        ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • พ.ศ.2517-2522 คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  (2 วาระติดต่อกัน)
  • พ.ศ.2520         รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • พ.ศ.2522-2523 ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • พ.ศ.2524-2526 รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • พ.ศ.2528-2531 รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • พ.ศ.2531-2534 รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • พ.ศ.2534-2540 อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • พ.ศ.2542-2546 คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เฉลิมพระเกียรติ
เกียรติประวัติที่ภาคภูมิใจ
  • ประธาน ที่ประชุมอธิการบดี แห่งประเทศไทย (2537)
  • ประธานสมาคมสถาบันอุดมศึกษาแห่งภูิมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย
  • กรรมการที่ปรึกษา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์
ผลงานในช่วงดำรงตำแหน่งอธิการบดี
      1. จัดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะศิลปศาสตร์
      2. เปิดสอนหลักสูตรบัณฑิตศึกษา หลักสูตรแรก สาขาวิชาเคมีศึกษา
      3. ส่งเสริมให้มีระบบประกันคุณภาพการศึกษา
      4. วางแนวทางการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่นการวิจัย การบริการวิชาการ การพัฒนาบุคลากร วิเทศสัมพันธ์
          พัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยี ก่อตั้งสภาวิชาการ
      5. เข้าร่วมโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย(IMT-GT)
      6. จัดตั้งกองทุนพิเศษ 100 ปี สมเด็จพระบรมราชนก
 
ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ แผนที่

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน