เฉลยปัญหาประจำเดือน กันยายน 2552

ปัญหาข้อที่ 1 :
 
 
“ ผูกพันมั่นเกลียว
ร่วมสายเลือดเดียวสงขลานครินทร์
ได้ร่มเย็นทุกชีวิน
เพราะพระราชบิดา "
 
 
คำถาม :
เพลง “ เขตรั้วสีบลู ” (version 2) ที่นำมาบันทึกเสียงใหม่ เมื่อปี 2544 อยากทราบว่าใครเป็นผู้ขับร้อง
 
 
 
ก) รวงทอง ทองลั่นธม
ข) อ้อย อัจฉรา
ค) ศรวณี โพธิเทศ
ง) วงจันทร์ ไพโรจน์
   
คำตอบ : ค)     ศรวณี โพธิเทศ {audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song52/Sep09-full.mp3{/audio}

 

เกร็ดความรู้

 

              คน  ม.อ.  แทบจะทุกคน คงจะคุ้นหูกับเพลง  “ เขตรั้วสีบลู ” version แรกซึ่งเป็น version ดั้งเดิม ขับร้องโดย “ คุณบุษยา รังสี ”

             เพลงนี้ ผู้ประพันธ์เนื้อร้อง คือ “ คุณพร พิรุณ1 ” ผู้ประพันธ์ทำนองคือ “ ครูเอื้อ สุนทรสนาน2 ” โดย version แรก บรรเลงโดย
วงดนตรีสุนทราภรณ์

             เพลง “ เขตรั้วสีบลู ” นับว่าเป็นเพลงหนึ่งเดียวในดวงในที่คน ม.อ. ชื่นชอบมากที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากมีทำนองที่ไพเราะ  รวมทั้งมีเนื้อเพลงหลายตอนที่กล่าวถึง  “ สมเด็จพระราชบิดา ”  ที่  คน  ม.อ. เคารพรักและเทิดทูน  เพลงนี้จึงถูกนำมาเปิดทุกครั้งที่มีงานสำคัญของมหา
วิทยาลัย

             ประมาณปี 2535 ผมได้เทป cassette มาม้วนหนึ่ง   เป็นเทปรวมเพลงสถาบัน จัดทำโดยสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   เพลงทุกเพลงในเทป ขับร้องโดยคณะนักร้องประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในเทปม้วนนั้นมีเพลง “ เขตรั้วสีบลู ” รวมอยู่ด้วย

             เมื่อผมได้ฟังเพลง   “ เขตรั้วสีบลู ”   ในรูปแบบของการประสานเสียงหลายต่อหลายครั้ง    จึงเกิดความประทับใจในความไพเราะ
ผมจึงตั้งใจไว้ว่า... หากมีโอกาสจะทำเพลง “ เขตรั้วสีบลู ” ออกมาอีกครั้งหนึ่งในรูปแบบของการประสานเสียง

             ในที่สุด โอกาสนั้นก็มาถึง ในปี 2544 เมื่อผมได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานจัดทำเทปและซีดีเพลงชุด “ ตามรอยพระยุคล
บาท สมเด็จพระบรมราชชนก ” ซึ่งจัดทำขึ้นในวาระครบรอบ 35 ปี แห่งการก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์

           ผมจึงปรึกษากับพี่พิมพ์   “ พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์3  ”  ซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานเทป   และซีดีเพลงชุดนี้ในการที่จะนำเพลง   “  เขตรั้วสีบลู ”  มาทำในรูปแบบของการประสานเสียง  โดยนักร้องที่ผมกำหนดไว้ตอนแรกคือ คุณสวลี  ผกาพันธ์
             แต่เนื่องจากมีปัญหาคลาดเคลื่อนด้านการติดต่อประสานงาน  จึงทำให้ต้องเปลี่ยนนักร้องมาเป็น   “ คุณศรวณี โพธิเทศ4 ” นักร้องรางวัลพระราชทานเสาอากาศทองคำแทน สำหรับการประสานเสียง ใช้นักร้องประสานเสียงจากกรมศิลปากร ซึ่งถือได้ว่า เพลงเขตรั้วสีบลูที่บันทึกใหม่ครั้งนี้ เป็น version 2
 
 
ศรวณี โพธิเทศ กำลังฟังเพลง “ เขตรั้วสีบลู ”
ที่บุษยา รังสี เป็นผู้ขับร้อง
ศรวณี โพธิเทศ กำลังบันทึกเสียงเพลง “ เขตรั้วสีบลู ”
ที่เจ้าพระยาสตูดิโอ
 
 
นักร้องประสานเสียงกรมศิลปากร กับพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
 
             เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการบันทึกเสียงครั้งนี้ ถึงแม้ว่าคุณศรวณีจะผ่านการร้องเพลงบันทึกเสียงมามากมาย แต่คุณศรวณีก็ได้ใช้เวลาในการซ้อมร้องเพลงนี้หลายต่อหลายครั้งก่อนที่จะเข้าห้องบันทึกเสียง ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่า  เพลงนี้เป็นเพลงอมตะที่คุณบุษยา รังสี
นักร้องรุ่นพี่ บันทึกเสียงไว้ก่อนหน้านั้นก็เป็นได้
             อย่างไรก็ตาม เพลง “ เขตรั้วสีบลู ” version นี้ มีความไพเราะ ชวนฟังไปอีกรูปแบบหนึ่ง   ถึงแม้จะต่างไปจาก version เดิมที่บันทึกไว้

1. พร พิรุณ
      ผู้ประพันธ์คำร้องอีกท่านหนึ่งประจำวงสุนทราภรณ์  เป็นเจ้าของผลงานเพลงขอให้เหมือนเดิม, เพลงรอยมลทิน, เพลงใครก็ได้ถ้ารักฉันจริง, เพลงผิดด้วยหรือถ้าเราจะรักกัน, เพลงกว่าจะรักกันได้, เพลงหาดผาแดง  ฯลฯ  และได้รับแผ่นเสียงทองคำพระราชทานในปี 2503  จากเพลงขอปันรัก

   

2. ครูเอื้อ สุนทรสนาน
      อดีตหัวหน้าวงสุนทราภรณ์ ผู้ประพันธ์ทำนองและผู้ขับร้องเพลงที่มีความไพเราะมากมาย อาทิ ขอให้เหมือนเดิม นางฟ้าจำแลง นวลปรางนางหมอง กังหันต้องลม ขอพบในฝัน ฯลฯ

   
3. พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
      ครูเพลงนักเรียบเรียงเสียงประสานชื่อดังเจ้าของผลงานเพลงที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียง ทองคำพระราชทาน และรางวัลเสาอากาศทองคำมากมาย อาทิ


     เพลง “ ไทยธำรงไทย ”      ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2514
     เพลง “ น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ ”      ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2518
     เพลง “ ตะแลงแกงแทงใจ ”      ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2520
     เพลง “ พะวงรัก ”      ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2521
     เพลง “ สุดเหงา ”      ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2525

   
4. ศรวณี โพธิเทศ
      อดีตนักร้องดาวรุ่งของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ เพลงแรกที่ขับร้องคือ เพลง “ เธอเท่านั้น ” ที่ครูเอื้อ สุนทรสนาน และศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ แต่งให้
      ประสบความสำเร็จในชีวิตนักร้อง มีเพลงที่ได้รับความนิยมมากมาย คือ รักครั้งแรก คิดถึงทุกลมหายใจ คิดดีแล้วหรือ อย่าร้องไห้เพื่อฉัน ยิ้มที่เปื้อนน้ำตา ฉันหรือคือกากี  อำลาที่เหลืออาลัย ความคิดถึงเป็นส่วนหนึ่งของความรัก ฯลฯ
ได้รับรางวัลพระราชทานเสาอากาศทองคำต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน
      -  ปี 2519 เพลง “ น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ ”
      -  ปี 2520 เพลง “ ตะแลงแกงแทงใจ ”
      -  ปี 2521 เพลง “ พะวงรัก ”
ได้รับรางวัลอารีดังอวอร์ดจากแดนโสม ในฐานะนักร้องยอดนิยมแห่งเอเชีย
   
ถ่ายทอดข้อมูล โดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 

ปัญหาข้อที่ 2 :
คำถาม : ปัจจุบัน พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ประดิษฐานอยู่ที่มหาวิทยาลัย
 
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตใด
 
 
 
ก) วิทยาเขตหาดใหญ่ กับ วิทยาเขตภูเก็ต
ข) วิทยาเขตปัตตานี กับ วิทยาเขตหาดใหญ่
ค) วิทยาเขตหาดใหญ่ กับ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี
ง) วิทยาเขตปัตตานี กับ วิทยาเขตตรัง
 
 
คำตอบ : ข)     วิทยาเขตปัตตานี กับ วิทยาเขตหาดใหญ่
 
 

เกร็ดความรู้


             พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก    เป็นสัญลักษณ์ของสถาบันที่เปรียบเสมือนที่พึ่งทางใจ และศูนย์รวมจิตใจของชาวสงขลานครินทร์ และประชาคมในท้องถิ่น
             ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ประดิษฐานอยู่ที่ 2 วิทยาเขต
             1. วิทยาเขตปัตตานี เป็นพระบรมรูปประทับยืน  ฉลองพระองค์ครุย พระกรซ้ายทรงหนีบปริญญาบัตร พระกรขวาทรงปล่อยลงแนบพระองค์ ประดิษ
ฐานที่หน้าตึกสำนักงานอธิการบดีของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และสมเด็จพระนางเจ้าฯ   พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์  เมื่อวันศุกร์ที่  22 กันยายน 2521
 
             2. วิทยาเขตหาดใหญ่     เป็นพระบรมรูปประทับพระเก้าอี้ ฉลองพระองค์ชุดสากล พระหัตถ์ทั้ง 2 ข้างวางบนพระเพลา พระพักตร์ตรง      ประดิษฐานที่หน้าอาคารสำนักงานอธิการบดีของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์ เมื่อวันจันทร์ที่ 23 กันยายน 2528
ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย...อ.มนัส กันตวิรุฒ
 
 

ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ แผนที่

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน