เฉลยปัญหาประจำเดือน มีนาคม 2556

ปัญหาข้อที่ 1  :  
 
   
คำถาม      : อยากทราบว่านักศึกษาคณะใดของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รุ่นแรก ได้เรียนที่อาคารคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ (เดิม) มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยใช้เป็นสำนักงานชั่วคราว ตั้งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนอำนวยศิลป์ กรุงเทพมหานคร ตลอดระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปีที่เริ่มเข้าการศึกษา (2510) จนกระทั่งปีที่สำเร็จการศึกษา (2514) โดยไม่มีโอกาสลงมาเรียนที่ภาคใต้เลย

ก. คณะวิศวกรรมศาสตร์
ข. คณะศึกษาศาสตร์
ค. คณะวิทยาศาสตร์

   
คำใบ้         : คณะนี้เป็นคณะที่มหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาเป็นคณะแรก หรือเปิดไปอ่านเฉลยปัญหาย้อนหลัง ประจำเดือนมีนาคม 2552 ข้อที่ 2
   
คำตอบ      : ก. คณะวิศวกรรมศาสตร์

เกร็ดความรู้

ในปี พ.ศ.2510 (ต้นเดือนมิถุนายน) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ซึ่งในขณะนั้นยังใช้ชื่อมหาวิทยาลัยภาคใต้) ได้เปิดรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์รุ่นแรก จำนวน 50 คน

ในขณะนั้น มหาวิทยาลัยภาคใต้ ได้ใช้อาคารคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ (เดิม) มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็นสำนักงานชั่วคราว (ปัจจุบัน คือ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)

นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ รุ่นแรก ที่รับมานั้นก็ได้ใช้สำนักงานชั่วคราวแห่งนี้เป็นสถานที่เรียน ซึ่งชาว ม.อ. รุ่นเก่าๆ มักจะนิยมเรียกกันว่า “วิทยาเขตหน้าอำนวยศิลป์” เพราะอยู่ตรงข้ามโรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร ถนนศรีอยุธยา

ต่อมา เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยภาคใต้ว่า “สงขลานครินทร์”


(คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)

นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ รุ่นแรก ที่รับเข้ามาจำนวน 50 คนนี้ ปรากฏว่าสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตรุ่นแรกได้เพียง 13 คน โดยที่ทั้ง 13 คนนี้ เรียนที่อาคารคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ (เดิม) มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ซึ่งใช้เป็นสำนักงานชั่วคราว) มาตลอดจนกระทั่งจบการศึกษา ทั้งนี้ เนื่องจากศูนย์อรรถกระวีสุนทรที่ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ (ต่อมาคือวิทยาเขตหาดใหญ่) ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ


ภาพอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ ขณะทำการก่อสร้าง

รายชื่อบัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ รุ่นแรก ทั้ง 13 คน มีดังนี้

1. นายโยธิน จงจิระศิริ (เกียรตินิยม อันดับ 2)
2. นายสมพร เหรียญมโนรมย์ (เกียรตินิยม อันดับ 2)
3. นายเกรียงไกร วงศ์วิศว์
4. นายโชคชัย ตันธนวัฒน์
5. นายปราโมทย์ วิทยาสุข
6. นายมนัส เกื้อกูลกิจการ
7. นายวิชัย ปวุติพันธ์
8. นายวิสุทธิ์ นิธิกุล
9. นายสมเกียรติ ดุริยะประพันธ์
10. นายสมชัย โภชนจันทร์
11. นายสันติ มงคลประดิษฐ์
12. นายสุรพล เอี่ยมจิตเมตตา
13. นายอักนิษฐ์ ภัทรสิทธ์เดชา

บัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ รุ่นแรก (ปีการศึกษา 2513) ทั้ง 13 คนนี้ ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2515 หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์ปัตตานี (ปัจจุบัน คือ วิทยาเขตปัตตานี) โดยมีบัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ รุ่นที่ 2 (ปีการศึกษา 2514) รวมทั้งบัณฑิตคณะศึกษาศาสตร์ รุ่นแรก (ปีการศึกษา 2514) เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งนี้ด้วย


อ.สมพร เหรียญมโนรมย์ บัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ รุ่นแรก
กำลังเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร

ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูล โดย.. อ.มนัส กันตวิรุฒ

 

ปัญหาข้อที่ 2 :  
 
   
คำถาม     : บุคคลที่อยู่ทางด้านขวามือของภาพเป็นใคร ให้ระบุชื่อและนามสกุลพร้อมตำแหน่งทางวิชาการอย่างชัดเจน
   
คำใบ้        : บุคคลท่านนี้เป็นอธิการบดี คนที่ 2 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
   
คำตอบ     : ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข
 

เกร็ดความรู้

ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์   มงคลสุข  เป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญยิ่ง  ในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ตั้งแต่สมัยที่เริ่มมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้

ประมาณเดือนกรกฎาคม 2508 ได้มีการดำเนินงานจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้ ภายใต้การนำของ ฯพณฯ พันเอก ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานกรรมการพัฒนาภาคใต้ โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้
เดือนตุลาคม 2509   ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข   คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ในขณะนั้น   ได้ปรารภว่า  คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ คงจะต้องรับช่วยเหลือแผนงานก่อตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้ เช่นเดียวกับที่ได้เคยให้ความช่วยเหลือแก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะมหาวิทยาลัยภูมิภาคนั้น โดยมากไม่พร้อมที่จะดำเนินการศึกษาในตอนเริ่มต้นได้ด้วยตนเอง เนื่องจากขาดกำลังคน ทั้งอาจารย์ ข้าราชการ ขาดอุปกรณ์การศึกษา ทั้งอาคาร เครื่องมือ และห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีหลายประเภท มหาวิทยาลัยภาคใต้ก็คงจะเช่นเดียวกัน

เดือนพฤศจิกายน 2509 ท่านได้รับการขอร้องจากคณะกรรมการดำเนินการก่อตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้ ให้เข้าช่วยเหลือแนะนำในการดำเนินงาน จนกระทั่งต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2510 ท่านจึงได้ตอบรับเชิญเป็นทางการ เข้าร่วมในคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้

หลังจากนั้น การดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดตั้งก็รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว

            เดือนเมษายน 2510 สภาการศึกษาแห่งชาติออกระเบียบการประกาศรับนักศึกษาเข้าศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคใต้ เป็นจำนวน 50 คน โดยศาสตราจารย์ ดร.กำแหง พลางกูร เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ ได้ติดต่อขอให้คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ รับฝากนักศึกษารุ่นแรกเข้าเรียนที่นั่น
ต่อมา ในวันที่ 22 กันยายน 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยภาคใต้ว่า “สงขลานครินทร์”
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2511 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 85 ตอนที่ 24 โดยเรียกว่า พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ.2511 โดยมีผลบังคับใช้ในวันต่อมา

ต่อมา ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 8 เมษายน 2511 ให้แบ่งส่วนราชการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ออกเป็น
1. สำนักงานอธิการบดี
2. คณะวิทยาศาสตร์
3. คณะวิศวกรรมศาสตร์

และในวันที่ 17 เมษายน 2511 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พันเอกถนัด คอมันตร์ เป็นอธิการบดี คนแรก โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เป็นรองอธิการบดี

ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ได้เข้ารับตำแหน่งเป็นอธิการบดี คนที่ 2 ต่อจาก ฯพณฯ พันเอกถนัด คอมันตร์ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง ดังนี้
วาระที่ 1 : มีนาคม 2512 – มีนาคม 2514
วาระที่ 2 : มีนาคม 2514 – กรกฎาคม 2514

จึงถือได้ว่า ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ท่านได้ติดต่อหาผู้บริจาคที่ดิน เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดสร้างมหาวิทยาลัย รวมทั้งจัดหาคณาจารย์ เพื่อทำการสอน ตลอดจนจัดหาทุนช่วยเหลือจากต่างประเทศ

ข้อมูลจากข้อเขียนของ ศ.ดร.ประดิษฐ เชยจิตร
จากหนังสือ “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ๖ กรกฎาคม ๒๕๑๔”
ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย.. อ.มนัส กันตวิรุฒ

 

ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ แผนที่

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน