เฉลยปัญหาประจำเดือน กรกฎาคม 2553

ปัญหาข้อที่ 1 :
   
คำถาม :
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ใช้สีอะไรเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย
   
คำตอบ : สีน้ำเงิน ( Blue )

 

เกร็ดความรู้

 
        มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในระยะเริ่มก่อตั้งมีชื่อว่ามหาวิทยาลัยภาคใต้
          ต่อมา  ในวันที่ 22 กันยายน 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อว่า  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ตามพระนามฐานันดรศักดิ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ เพื่อเป็นเกียรติแก่เมืองสงขลา เมื่อ พ.ศ. 2446 เสมือนเป็นเจ้าแห่งนครสงขลา

          คณะผู้ก่อตั้งและผู้บริหารมหาวิทยาลัยในยุคนั้น จึงได้กำหนดให้ใช้ สีน้ำเงิน ( Blue ) เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย เนื่องจาก สีน้ำเงิน เป็นสีประจำวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชบิดาฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ประกอบกับสีน้ำเงิน มีความหมายว่าสีแห่งความเป็นราชขัติยนุกูลแห่งบรมราชวงศ์
          สำหรับโทนสีน้ำเงินที่ใช้ จะอ่อนหรือเข้มอย่างไรนั้น ไม่ได้มีการกำหนดไว้เป็นที่แน่ชัดมาตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้น..จะเห็นได้จากโทนสีน้ำเงินของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ใช้มีความหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละโอกาส
          แต่พออนุมานได้ว่า โทนของสีน้ำเงินนั้น น่าจะเป็นสีกลางๆ ( คือไม่อ่อนหรือไม่แก่จนเกินไป )

          สิ่งที่ควรยกมาเป็นข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ สีน้ำเงินในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Blue ดังนั้น จึงมีบางคนเข้าใจว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ใชัสีบลูเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งความจริงแล้ว สีบลู ก็คือ สีน้ำเงิน นั่นเอง แต่เป็นการเรียกทับศัพท์
          คำว่า “ สีบลู ” นี้ จะไปสอดคล้องกับเพลงของมหาวิทยาลัยเพลงหนึ่ง ซึ่งวงดนตรีสุนทราภรณ์ได้ประพันธ์ไว้ในยุคแรกๆ สมัยที่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย เพลงนี้เป็นเพลงที่รู้จักกันดีในบรรดาชาว ม.อ. รวมทั้งบุคคลที่อยู่ในแวดวงมหาวิทยาลัยด้วยกัน เพลงนี้ มีชื่อว่าเพลง “ เขตรั้วสีบลู ” ซึ่งขับร้องโดย คุณบุษยา รังสี
 

 ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ



 
ปัญหาข้อที่ 2 :
 
คำถาม : ใครเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยคนแรกของ ม.อ.
 
 
คำใบ้ : ค้นหาคำตอบนี้ได้ในหนังสือ “ ครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ” หน้า 107
   
คำตอบ : ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร
 

เกร็ดความรู้

 
          ปี พ.ศ. 2502 เมื่อจัดตั้งสภาการศึกษาแห่งชาติขึ้นแล้ว ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้โอนมหาวิทยาลัยในสังกัดกระทรวงต่างๆ มาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

           มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่นที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าสังกัด จึงดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง ดังจะเห็นได้จาก  พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2511  เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2511  ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั้น มีบัญญัติใน มาตรา 13 ว่า “ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย ”
 

          ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ปี 2511 เป็นต้นมา ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์คนแรก
     

( คลิกที่แต่ละภาพเพื่อชมภาพขนาดใหญ่ )

   
          ในปี พ.ศ. 2515 มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 180 พ.ศ. 2515 ได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2511 ในมาตรา 13 โดยบัญญัติว่า “ นายกสภามหาวิทยาลัยจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ”
           ด้วยเหตุนี้ นับตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2515 เป็นต้นมา นายกสภามหาวิทยาลัยจึงมิใช่เป็นโดยตำแหน่ง แต่จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยมีวาระ 2 ปี เช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2522 ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา วันที่ 25 เมษายน 2522
   

( คลิกที่แต่ละภาพเพื่อชมภาพขนาดใหญ่ )


 
ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

เฉลยปัญหาประจำเดือน มิถุนายน 2553

ปัญหาข้อที่ 1 :
   
คำถาม :
วันรูสะมิแล ตรงกับวันที่เท่าไหร่ เดือนอะไร
   
คำตอบ : วันที่ 9 พฤศจิกายน

เกร็ดความรู้

               มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2509 (ขณะนั้นใช้ชื่อมหาวิทยาลัยภาคใต้)
               ในปี พ.ศ. 2510 ได้เปิดรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ขึ้นเป็นคณะแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 ได้เปิดรับนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ขึ้นเป็นคณะที่สอง โดยอาศัยอาคารเรียนของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ (เดิม) มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ข้างโรงพยาบาลสงฆ์ ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร
 

ภาพอาคารคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ (เดิม)





               ต่อมาเมื่อการก่อสร้างที่ปัตตานีแล้วเสร็จบางส่วน ในภาคการศึกษาที่ 2 ของปี พ.ศ. 2511 คณะอาจารย์และนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ก็ได้เป็นคณะแรกที่ย้ายลงสู่ภาคใต้ มาประจำที่ศูนย์ปัตตานี ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511







 

 



ดังนั้น ในวันที่ 9 พฤศจิกายนของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็น “วันรูสะมิแล” โดยมีการจัดกิจกรรมขึ้นในแต่ละปี เพื่อเป็นการระลึกถึงการมาอยู่ที่ตำบลรูสะมิแลเป็นวันแรก


ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย... อ.มนัส กันตวิรุฒ







 

 

ปัญหาข้อที่ 2 :
   
คำถาม :
ภาพอ่างเก็บน้ำที่ท่านเห็นอยู่นี้ อยู่ในวิทยาเขตใด
  ก) วิทยาเขตตรัง
ข) วิทยาเขตภูเก็ต
ค) วิทยาเขตหาดใหญ่
 
คำตอบ : ค) วิทยาเขตหาดใหญ่

เกร็ดความรู้


               อ่างเก็บน้ำ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2510 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคของบุคลากรที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัย สาเหตุที่ไม่ใช้น้ำจากการประปาหาดใหญ่ เนื่องจากในขณะนั้น น้ำที่ผลิตจากการประปาแห่งนี้ไม่เพียงพอ เพราะจะต้องส่งให้แก่ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองสงขลาด้วย







               บรรยากาศของอ่างเก็บน้ำ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไม่ว่าจะเป็นยามเช้าที่หมอกลงจัด ยามเย็นที่ดวงอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า หรือยามค่ำคืนที่เงียบสงบ ล้วนมีทัศนียภาพอันสวยงาม น่าประทับใจ




               ในช่วงเวลาตอนเช้าและเย็น บริเวณอ่างเก็บน้ำจะเป็นสถานที่ที่ผู้คนจำนวนมากทั้งภายนอกและภายในมหาวิทยาลัยมาใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย


ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย...อ.มนัส กันตวิรุฒ

ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ แผนที่

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน