เฉลยปัญหาประจำเดือน ตุลาคม 2551

ปัญหาข้อที่ 1 :  
   
คำถาม      : “คำว่าจาก ไม่อยากได้ยิน               เสียงคอยเตือนถวิล น้ำตาร่วงรินลาหลั่ง
เตือนดวงใจ ยามไกลอีกครั้ง           ยังไม่ลืมความหลัง ยังไม่ลืม”

เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร และใครเป็นผู้ขับร้อง
   
คำตอบ      : เพลง “ยังไม่ลืมศรีตรัง” ขับร้องโดย “ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา”
{audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song51/YangMaiLumSritrang-oct08-full-mp3.mp3{/audio}

เกร็ดความรู้

               ในเทปเพลงมหาวิทยาลัยชุด “มอบดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2527 นั้น นอกจากจะมีเพลง “แดนสรวง” เป็นเพลงลาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แล้ว ยังมีเพลง “ยังไม่ลืมศรีตรัง” ซึ่งถือว่าเป็นเพลงลาที่มีความไพเราะมากอีกเพลงหนึ่ง



               หากฟังเพลงนี้ ต่อไปจนจบเพลง จะเห็นว่าเนื้อร้องทุกตอนแฝงไว้ด้วยความหมายที่ลึกซึ้ง ประทับใจ จนน้ำตาไหลออกมาโดยไม่รู้สึกตัว
               ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงเพลงนี้ คือ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์มะเนาะ ยูเด็น1 โดยมี “อาจารย์ปราโมทย์ กระมุท2 เป็นผู้ให้ทำนอง
               จุดเด่นของเพลง “ยังไม่ลืมศรีตรัง” คือ อินโทร (Intro) ดนตรีที่ขึ้นต้นก่อนเริ่มเพลงท่อนแรก จะมีความหวานซึ้งและเศร้าอยู่ในลีลาของเพลง ฟังแล้วไพเราะจับใจ ทั้งนี้ ด้วยฝีมือของครูเพลงระดับแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน “พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์3
                ในการบันทึกเสียงเมื่อปี พ.ศ.2527 นั้น ผมได้ตัดสินใจที่จะเลือก “คุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวา4 เป็นผู้ขับร้องเพลง “ยังไม่ลืมศรีตรัง” เนื่องจากเคยประทับใจกับเพลง “เดือนต่ำดาวตก” ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “ดรรชนีนาง” ที่คุณทนงศักดิ์เป็นผู้ขับร้องมาแล้ว
                ผมยังจำวันที่มีการบันทึกเสียงเพลง “ยังไม่ลืมศรีตรัง” ได้เป็นอย่างดี วันนั้น พี่ปื๊ด (ทนงศักดิ์) บินกลับมาจากเชียงใหม่ และลงจากเครื่องที่สนามบินดอนเมือง ก็นั่งรถมาที่ห้องบันทึกเสียงศรีสยามเลย
                พี่ปื๊ดใช้เวลาซ้อมเพลงนี้ เพียงแค่ 3 ครั้ง จากนั้นก็เดินตรงเข้าห้องบันทึกเสียง

 



คุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวา กำลังซ้อมเพลง “ยังไม่ลืมศรีตรัง” กับคุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
ในห้องบันทึกเสียงศรีสยาม กทม. เมื่อปี พ.ศ. 2527


               หลังจากบันทึกเสียงเสร็จ พี่ปื๊ดหันมาถามผมว่า “อาจารย์ เป็นอย่างไรบ้าง ใช้ได้หรือยัง” ผมได้แต่เพียงตอบกลับไปว่า “แล้วแต่พี่ปื๊ดก็แล้วกันครับ” ทั้งๆ ที่ในใจผมเองคิดว่าดีเยี่ยมอยู่แล้ว แต่พี่ปื๊ดกลับหันมาบอกพี่พิมพ์ (พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์) ว่า “ถ้าอย่างนั้น ขออีกเที่ยวดีกว่า”
               ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา เป็นนักร้องคุณภาพที่พิถีพิถันกับงานเพลงเป็นอย่างมาก ทุกครั้งที่ร้องเพลง พี่ปื๊ดจะใส่อารมณ์และความรู้สึกลงไปในเพลงอย่างเต็มที่ ดังจะเห็นได้จากเพลง “ยังไม่ลืมศรีตรัง” หากฟังให้ดี ตรงท่อนสุดท้ายของเพลงเพลงนี้ จะสังเกตเห็นว่า โทนเสียงที่บ่งบอกถึงอารมณ์และความรู้สึกอันลึกล้ำ โดยเสียงร้องจะค่อยๆ แผ่วลงและแผ่วลง จนจางหายไปในลำคออย่างไม่อาจจะกลั้น



“คำว่าจากไม่อยากได้ยิน เสียงคอยเตือนถวิล น้ำตาร่วงริน...ลาหลั่ง

                หลังจากบันทึกเสียงเพลง “ยังไม่ลืมศรีตรัง” ในวันนั้นแล้ว พี่ปื๊ดมีความประทับใจในเพลงเพลงนี้มาก ดังนั้น ไม่ว่าจะเจอผมครั้งใด หรือสถานที่ใดก็ตาม ประโยคแรกที่พี่ปื๊ดมักจะพูดกับผมอยู่เป็นประจำก็คือ 



“คำว่าจากไม่อยากได้ยิน”


เนื้อเพลงประโยคดังกล่าว จึงถือได้ว่า เป็นวรรคทองหรือเอกลักษณ์ของเพลงเพลงนี้มาตราบเท่าทุกวันนี้

1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์มะเนาะ ยูเด็น
               อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีผลงานบทกวีที่มีความไพเราะมากมาย ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว

 

2. อาจารย์ปราโมทย์ กระมุท
               อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เคยดำรงตำแหน่งรักษาการคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. 2540 และ เป็นผู้อำนวยการหอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ปี พ.ศ. 2532- 2539 ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว
3. พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
                ครูเพลง นักเรียบเรียงเสียงประสานชื่อดัง เจ้าของผลงานเพลงที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน และรางวัลเสาอากาศทองคำมากมาย อาทิ
                             เพลง “ไทยธำรงไทย” ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2514
                             เพลง “น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ” ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2518
                             เพลง “ตะแลงแกงแทงใจ” ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2520
                             เพลง “พะวงรัก” ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2521
                             เพลง “สุดเหงา” ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2525

 

4. ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา
               ศิลปินมากความสามารถ มีผลงานด้านร้องเพลง แสดงภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ มากมาย เพลงแรกที่ร้องอัดแผ่นเสียงคือ “เอื้องดอกฟ้า” มีลีลาการร้องทอดเสียง ออดอ้อน มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองจนได้รับฉายานักร้องเสียงระทม เพลงที่ร้องล้วนแล้วได้รับความนิยมทั้งสิ้น อาทิ เดือนต่ำดาวตก หอรักหอร้าง นารี อยู่เพื่อคอยเธอ วันคอย นกเอี้ยงจ๋า ยามชัง เพื่อความรัก ไกลชู้ ฐานันดรรัก ดึกเอยดึกแล้ว ไม่รักไม่ว่า ฯลฯ
                - เป็นอดีตหนึ่งในสมาชิกวงดนตรี “สามศักดิ์”
                - ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึง 3 ครั้ง
                   จากเพลงแมวเหมียว ใกล้เข้ามาแล้ว และ ไร้อารมณ์
ได้รับรางวัลเกียรติบัตรประกาศเกียรติคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เป็นผู้ขับร้องเพลงไทยสากล โดยใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องชัดเจนในปี พ.ศ. 2534

ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 
ปัญหาข้อที่ 2 : 
   
คำถาม     : สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาพระราชทาน ปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นจำนวนกี่ครั้ง (นับปีการศึกษา 2550 ด้วย)
ก) 5 ครั้ง ข) 11 ครั้ง
   
คำใบ้ : ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้จากหนังสือ “ครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์”
   
คำตอบ     : ข) 11 ครั้ง
   

เกร็ดความรู้

               สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นจำนวน 11 ครั้งติดต่อกัน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2551 (ซึ่งเป็นปีล่าสุด)

ครั้งที่ 27 วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2541

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2540 ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและห้องสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

                     มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                 • ระดับปริญญาโท จำนวน 491 คน
                                • ระดับประกาศนียบัตรสูงกว่าปริญญาตรี จำนวน 17 คน
                                • ระดับปริญญาตรี จำนวน 2,059 คน

ครั้งที่ 28 วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2542

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2541 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

                          มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                       • ระดับปริญญาเอก จำนวน 2 คน
                                       • ระดับปริญญาโท จำนวน 378 คน
                                       • ระดับประกาศนียบัตรสูงกว่าปริญญาตรี จำนวน 4 คน
                                       • ระดับปริญญาตรี จำนวน 2,731 คน

ครั้งที่ 29 วันพุธที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2543

                เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2542 ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและห้องสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                          มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                         • ระดับปริญญาเอก จำนวน 2 คน
                                         • ระดับปริญญาโท จำนวน 423 คน
                                         • ระดับประกาศนียบัตรสูงกว่าปริญญาตรี จำนวน 7 คน
                                         • ระดับปริญญาตรี จำนวน 3,252 คน
               ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติถวายปริญญาทันตแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้วย

ครั้งที่ 30 วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2544

                เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2543 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
                         มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                 • ระดับปริญญาเอก จำนวน 2 คน
                                 • ระดับปริญญาโท จำนวน 549 คน
                                 • ระดับปริญญาตรี จำนวน 3,440 คน

ครั้งที่ 31 วันเสาร์ที่ 21 – วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2545

              เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2544 ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและห้องสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                       มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                 • ระดับปริญญาเอก จำนวน 3 คน
                                 • ระดับปริญญาโท จำนวน 699 คน
                                 • ระดับปริญญาตรี จำนวน 3,120 คน

               ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรพยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ พระเจ้า วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ด้วย


ครั้งที่ 32 วันอาทิตย์ที่ 21 – วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2546

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2545 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
                          มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                      • ระดับปริญญาเอก จำนวน 7 คน
                                      • ระดับปริญญาโท จำนวน 899 คน
                                      • ระดับปริญญาตรี จำนวน 2,879 คน

               ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ แด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วย

ครั้งที่ 33 วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2547

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2546 ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและห้องสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                          มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                    • ระดับปริญญาเอก จำนวน 12 คน
                                    • ระดับปริญญาโท จำนวน 1,134 คน
                                    • ระดับปริญญาตรี จำนวน 3,317 คน
               ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม แด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วย



ครั้งที่ 34 วันพฤหัสบดีที่ 15 – วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2548

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2547 ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและห้องสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                            มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                        • ระดับปริญญาเอก จำนวน 14 คน
                                        • ระดับปริญญาโท จำนวน 893 คน
                                        • ระดับปริญญาตรี จำนวน 4,085 คน
              ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติให้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญากิตติมศักดิ์ แด่พระบรมวงศานุวงศ์ 3 พระองค์
                                       - ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (อิสลามศึกษา) แด่
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร
                                       - ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ภาษาเพื่อการพัฒนา) แด่
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
                                        - ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ชีวเวชศาสตร์) แด่
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี


ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล นายกสภามหาวิทยาลัย ทูลเกล้าฯ
ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ชีวเวชศาสตร์) แด่
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี


ครั้งที่ 35 วันพฤหัสบดีที่ 21 – วันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2548 ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและห้องสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                         มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                      • ระดับปริญญาเอก จำนวน 21 คน
                                      • ระดับปริญญาโท จำนวน 919 คน
                                      • ระดับปริญญาตรี จำนวน 4,875 คน
               ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เกษตรศาสตร์) แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วย

ครั้งที่ 36 วันศุกร์ที่ 21 – วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2550

                 เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2549 ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและห้องสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                  มีผู้สำเร็จการศึกษา
                              • ระดับปริญญาเอก จำนวน 43 คน
                              • ระดับปริญญาโท จำนวน 1,070 คน
                              • ระดับปริญญาตรี จำนวน 5,117 คน

ครั้งที่ 37 วันอาทิตย์ที่ 21 – วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

               เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2550 ณ หอประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                    มีผู้สำเร็จการศึกษา
                              • ระดับปริญญาเอก จำนวน 54 คน
                              • ระดับปริญญาโท จำนวน 1,085 คน
                              • ระดับปริญญาตรี จำนวน 5,777 คน
                 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมเคมี) แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วย

เรียบเรียงและตรวจสอบข้อมูลโดย...อ.มนัส กันตวิรุฒ

เฉลยปัญหาประจำเดือน ธันวาคม 2551

ปัญหาข้อที่ 1 :  
   
คำถาม      : “จะแน่วแน่ แก้ไข ในสิ่งผิด              จะรักชาติ จนชีวิต เป็นผุยผง
จะยอมตาย หมายให้ เกียรติดำรง     จะปิดทอง หลังองค์ พระปฏิมา”

เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร
   
  เพลงนี้เป็นหนึ่งในบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
   
คำตอบ      : เพลง “ความฝันอันสูงสุด”
{audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song51/HighestDream-dec08-full.mp3{/audio}

เกร็ดความรู้

               เพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 43 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2514




                 ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เล่าไว้ในหนังสือ “ภิรมย์รัตน์” ว่า เมื่อตามเสด็จฯ ไปอยู่ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ พ.ศ. 2512 ได้รับพระราชเสาวนีย์จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้เขียนบทกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติ เพื่อประเทศชาติ

               “ข้าพเจ้าค่อยๆ คิดหาคำ กลั่นกรองให้ตรงกับความหมายเท่าที่จะสามารถ แล้วทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตร ทรงพระกรุณาติชม จนผลสุดท้ายออกมาเป็นกลอน 5 บท...
                ความบันดาลใจในเรื่องนี้มีที่มาจากการสังเกตของข้าพเจ้า ได้รู้เห็นพระราชอัธยาศัย พระราชจริยวัตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่เสื่อมคลาย”

                สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็กๆ พระราชทานข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี เพราะบ้านเมืองขณะนั้นยุ่งอลเวง น่าเป็นห่วงอนาคตของประเทศชาติ
                ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใส่ทำนองเพลงในคำกลอน “ความฝันอันสูงสุด” ดังที่เป็นเพลงพระราชนิพนธ์รู้จักกันแพร่หลายทุกวันนี้ นับเป็นเพลงพระราชนิพนธ์แรกที่ได้ทรงจากคำร้อง
                (จากหนังสือ “ดนตรีจากพระราชหฤทัย ศูนย์รวมใจแห่งปวงชน” จัดทำโดย คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำหนังสือรวมเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2539)

              

ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

 
ปัญหาข้อที่ 2 : 
   
คำถาม     : นับตั้งแต่พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2515 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2551) สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีมติขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นจำนวนกี่ครั้ง
ก) 1 ครั้ง
ข) 2 ครั้ง
ค) 5 ครั้ง
   
คำใบ้ : ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้จากหนังสือ “ครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์”
   
คำตอบ     : ค) 5 ครั้ง
   

เกร็ดความรู้

               นับตั้งแต่พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2515 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2551) สภามหาวิทยาลัยได้มีมติขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นจำนวนทั้งสิ้น 5 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2515

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2513 และ 2514 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

               ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง อธิการบดี เชิญ ปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมเครื่องกล) ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วย


ครั้งที่ 25 วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2539

               สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา 2538 ณ โรงยิมเนเซียม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
               ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วย

ครั้งที่ 33 วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2547

               สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2546 ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและห้องสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
              ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วย

ครั้งที่ 35 วันพฤหัสบดีที่ 21 – วันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549

                สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2548 ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและห้องสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
               ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เกษตรศาสตร์) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วย

ครั้งที่ 37 วันอาทิตย์ที่ 21 – วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

              สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2550 ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและห้องสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
             ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมเคมี) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วย

เรียบเรียงและตรวจสอบข้อมูลโดย...อ.มนัส กันตวิรุฒ

เฉลยปัญหาประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2554

ปัญหาข้อที่ 1  :
คำถาม      : บุคคลในภาพคือใคร ให้ระบุชื่อและนามสกุลอย่างชัดเจน
คำใบ้        : บุคคลท่านนี้ คืออธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
คำตอบ     : ฯพณฯ พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์

เกร็ดความรู้

ในเดือนมกราคม 2507 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาภาคใต้ชุดใหม่ขึ้น โดยมี ฯพณฯ พันเอก ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น เป็นประธาน คณะกรรมการพัฒนาภาคใต้ชุดใหม่ได้ดำเนินการตามโครงการที่จะจัดให้มีมหาวิทยาลัยในภาคใต้ต่อไป
ต่อมา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2508 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติรับหลักการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้ และแต่งตั้งคณะกรรมการก่อตั้งมหาวิทยา
ลัยภาคใต้
ขึ้น โดยมี ฯพณฯ พันเอกถนัด คอมันตร์ เป็นประธาน
หลังจากนั้น ในปีการศึกษา 2510 มหาวิทยาลัยภาคใต้  ได้เริ่มรับนักศึกษาเข้าศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นรุ่นแรก จำนวน 50 คน
โดยฝากเรียนอยู่กับคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
จนกระทั่ง  ในวันที่ 22 กันยายน 2510 มหาวิทยาลัยภาคใต้  ได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า  “มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์”
และได้มีประกาศพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ฉบับแรก ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 85  ตอนที่  24  เมื่อวันที่  12
มีนาคม 2511 ซึ่งมีผลบังคับในวันต่อมา คือวันที่ 13 มีนาคม 2511
ต่อมา ในวันที่ 17 มิถุนายน 2511 ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ ฯพณฯ พันเอก ถนัด คอมันตร์ เป็นอธิการบดี และศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เป็นรองอธิการบดี
ดังนั้น จึงถือได้ว่า ฯพณฯ พันเอก ถนัด คอมันตร์ เป็นอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์




ฯพณฯ พันเอก ถนัด คอมันตร์ อธิการบดี (สมัยนั้น) ต้อนรับและให้โอวาท
นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะแรก ที่ย้ายลงภาคใต้มาประจำ
ที่ศูนย์ปัตตานี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2511




ในวันที่ 26 มีนาคม 2512 ฯพณฯ พันเอก ถนัด คอมันตร์ ได้ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี เนื่องจากมีภาระหน้าที่ทางกระทรวงการต่างประเทศอยู่เป็นอันมาก
ต่อมา วันที่ 18 กันยายน 2515 เมื่อ ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร พ้นวาระการดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์คนแรกแล้ว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ฯพณฯ พันเอก ถนัด คอมันตร์ เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย เป็นคนที่ 2


 

โดยท่านได้ดำรงตำแหน่งติดต่อกัน 4 วาระ แต่ในวาระที่ 4 ซึ่งเป็นวาระสุดท้าย ท่านดำรงตำแหน่งไม่ครบ 2 ปี (18 กันยายน 2521 – 23 สิงหาคม 2522) เนื่องจากมีประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2522

ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย... อ.มนัส กันตวิรุฒ

ปัญหาข้อที่ 2 :
คำถาม     : พิพิธภัณฑ์เรือนอำมาตย์โท พระยาพิบูลพิทยาพรรค อยู่ในวิทยาเขตใด
ก) วิทยาเขตภูเก็ต
ข) วิทยาเขตตรัง
ค) วิทยาเขตปัตตานี
ง) วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี
คำใบ้        : ค้นหาคำตอบของข้อนี้ได้จากเว็บไซต์ของสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา
คำตอบ     : ค) วิทยาเขตปัตตานี

เกร็ดความรู้

เรือนอำมาตย์โท พระยาพิบูลพิทยาพรรค เป็นบ้านไม้หลังใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นความสามารถของเจ้าของเรือนและนายช่างในการผสมผสานวัฒนธรรมไทยและตะวันตกได้อย่างกลมกลืนกัน   โดยผู้เป็นเจ้าของ  คือ  อำมาตย์โท  พระยาพิบูลพิทยาพรรค  (ทอง คุปตาสา)   ดำรงตำแหน่ง  กรรมการมณฑลปัตตานีและกรรมการมณฑลนครศรีธรรมราช
บ้านโบราณหลังนี้มีหลังคา  รวมทั้งลวดลายแกะสลัก  ตกแต่งตามลักษณะบ้านแบบยุโรปที่เริ่มสร้างในประเทศไทย  ตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีหน้าต่างแคบยาว ตีไม้เป็นบานเกล็ดตายตัว แต่มีหน้าจั่วเพิ่มมาด้านหน้า ตัวบ้านทาสีฟ้าอ่อนตัดขอบด้วยสีฟ้าเข้ม
บ้านหลังนี้  สร้างโดยช่างชาวจีน  เสร็จประมาณปี  พ.ศ. 2476 อันเป็นปีที่พระยาพิบูลพิทยาพรรคลาออกจากราชการ  เดิมบ้านตั้งอยู่เลขที่ 3
ถนนสฤษดิ์ บ้านหันมาทางทิศใต้ เยื้องกับโรงพยาบาลปัตตานีเก่า
ลักษณะเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น
สูงจากพื้นดินประมาณ 170 ซม. มีเนื้อที่ชั้นล่างและชั้นบนเท่ากัน ชั้นละ 90 ตารางเมตร ชั้นล่างมี 3 ห้อง ชั้นบนแบ่งออกเป็น 5 ห้อง
หลังจากที่พระยาพิบูลพิทยาพรรคถึงแก่กรรมในปี   พ.ศ. 2509   จนถึงปี พ.ศ. 2519   ผู้ที่สืบทอดบ้านหลังนี้   คือ  ว่าที่ร้อยตรีปราโมทย์ และ  อาจารย์จีรพรพิชญ์ เชาวน์วาณิชย์ ซึ่งว่าที่ร้อยตรีปราโมทย์ เกรงว่าบ้านหลังนี้ ซึ่งมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ อาจชำรุดได้   เนื่อง
จากตั้งอยู่ในสภาพเป็นแอ่ง จึงแจ้งกับ อาจารย์ปัญญ์ ยวนแหล รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ในขณะนั้นว่าประสงค์จะบริจาคให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาวิจัยต่อไป
ต่อมา ว่าที่ร้อยตรีปราโมทย์ได้ขายที่ดินบริเวณบ้านให้แก่นายสมยศ ฉันทวานิช โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องบริจาคบ้านหลังนี้ให้แก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
การเตรียมการเคลื่อนย้านบ้านหลังนี้ เริ่มขึ้นในเดือนกันยายน 2535 ในสมัยที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ผดุงยศ ดวงมาลา เป็นรองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ซึ่งมี นาย Eric Bogdan สถาปนิกชาวฝรั่งเศสที่เป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิจัยโครงการ Grand Sud มหาทักษิณ เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้ของการเคลื่อนย้ายบ้านหลังนี้
ในเดือนพฤศจิกายน 2535 นายบ็อกด็อง ใช้เวลาประมาณ 20 วัน สำหรับการแกะแบบและถอดชิ้นส่วนบ้าน
ในเดือนมีนาคม 2537 จึงได้เริ่มลงมือประกอบบ้านโดยใช้ช่างท้องถิ่นประมาณ 10 คน จนแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2538 โดยมีค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและประกอบเป็นเงินประมาณ 800,000 บาท
การรื้อบ้านโบราณและประกอบใหม่หลังนี้ เป็นหนึ่งในการย้ายอาคารหลังใหญ่เพียงไม่กี่แห่งทั่วโลก และสำหรับบ้านที่มีหลังคาและจั่ว เช่นบ้านที่พระยาพิบูลพิทยาพรรคสร้างนี้ อาจไม่เคยปรากฏมาก่อน สถาปนิกและช่างต้องใช้ความพิถีพิถันในการทำงาน เพื่อรักษาบ้านให้อยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด
ส่วนที่ต่างไปจากเดิม คือเพิ่มชายคาลายฉลุชั้นนอกของบ้าน เปลี่ยนหลังคาเป็นกระเบื้องดินเผา ส่วนสีบ้านได้เปลี่ยนจากสีฟ้าเป็นสีขาว เพื่อให้เข้ากับพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน กระจกช่องแสงใช้แบบลาย และเพิ่มบันไดสองข้างหน้าระเบียงที่ยื่นออกมาจากเฉลียง
โครงการจัดตั้งสถาบันกัลยาณิวัฒนาเพื่อการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ ได้ใช้เรือนอำมาตย์โทพระยาพิบูลพิทยาพรรคเป็นที่ทำการ โดยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จประกอบพิธีเปิดโครงการ

 

 

ปัจจุบันเรือนอำมาตย์โท พระยาพิบูลพิทยาพรรค เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเครื่องใช้ของอำมาตย์โท พระยาพิบูลพิทยาพรรคและภรรยา นอกจากนั้น เรือนหลังนี้ยังเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการเนื่องในโอกาสต่างๆ โดยอยู่ในความดูแลของสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา



ข้อมูลโดย...สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา
ค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลโดย...อ.มนัส กันตวิรุฒ

 

 

ติดต่อเรา

หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

♦️ ติดต่อสำนักงาน
โทรศัพท์ 0-7428-2990
โทรสาร 0-7428-2999

♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
โทรศัพท์ 0-7428-2993

♦️ แผนที่

เครือข่ายหอประวัติ

♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน