รวมเฉลยปัญหาย้อนหลัง

  • ประจำปี 2566

  • เฉลยปัญหาประจำเดือน พฤษภาคม 2551

    ปัญหาข้อที่ 1 :  
       
    คำถาม      : “ฝนมาศรีตรังยั่งยืน           หญ้าชื่นยามรับไอฝน
    ศรีตรังดอกหญ้าหรือคน         รับฝนจากฟ้าเดียวกัน”
       
      เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร และใครเป็นผู้ขับร้อง
       
    คำตอบ      : ชื่อเพลง “ลาร่มศรีตรัง” ขับร้องโดย “กิ่งกาญจน์ กาญจนา”
    {audio}http://dmhost1.psu.ac.th/~psuhistory/song51/ลาร่มศรีตรัง.mp3{/audio}

    เกร็ดความรู้

                   ที่มาของเพลง “ลาร่มศรีตรัง” นั้น คุณวัชรินทร์ ไตรวุฒฑานนท์1 ซึ่งเป็นผู้แต่งคำร้องเพลงๆ นี้ ได้เขียนเล่าไว้ในข้อเขียนชื่อ “ม.อ. ในความหลัง” ตอนหนึ่งว่า...



                    เพลง “ลาร่มศรีตรัง” เป็นเพลงหนึ่งใน 6 เพลง ที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสาท มีแต้ม อดีตนายกสมาคมนักศึกษาเก่า ม.อ. นำเอามาให้ผม เพื่อนำไปบันทึกเสียงในการทำเทปชุด “ฝากดวงใจไว้ในร่มศรีตรัง” ในปี 2527
                   จากนักร้องหญิง 3 คน ที่กำหนดเอาไว้ว่าจะให้ร้องเพลงในชุดนี้คือ คุณรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส, คุณจิตติมา เจือใจ และ คุณกิ่งกาญจน์ กาญจนา ผมลองมานั่งคิดดูแล้ว เห็นว่าคุณกิ่งกาญจน์ น่าจะมีความเหมาะสมที่จะร้องเพลงเพลงนี้มากกว่าคนอื่นๆ
                    เมื่อคุณกิ่งกาญจน์รู้ว่าถูกมอบหมายให้เป็นผู้ร้องเพลงนี้จึงพูดกับผมว่า “พี่นัสคะ กัลย์คิดว่าเพลงนี้เป็นเพลงแนวเพื่อชีวิต น่าจะเหมาะกับคุณหงา คาราวาน หรือ คุณแอ๊ด คาราบาว มากกว่า” แต่เมื่อผมยืนยันจะให้เธอเป็นผู้ร้อง เธอก็ไม่อาจปฏิเสธ ถึงแม้ว่าเธอจะไม่ถนัดกับเพลงแนวนี้เท่าไรนัก แต่เธอก็พยายามที่จะตั้งใจร้องเพลงนี้ให้ออกมาดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
                   หลังจากนั้น คุณกิ่งกาญจน์ได้ซ้อมร้องเพลงนี้ให้ผมฟังหลายเที่ยว ก่อนจะมีการบันทึกเสียงจริง ขณะที่ซ้อมเพลงนี้ คุณสุเทพ วงศ์กำแหง ได้เดินเข้ามาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการร้องว่า “การที่จะทำให้บทเพลงมีความอมตะนั้น เวลาร้องควรจะใส่อารมณ์และความรู้สึกลงไปด้วย”




     
    คุณกิ่งกาญจน์ กาญจนา (ขวา) กำลังซ้อมร้องเพลง “ลาร่มศรีตรัง”
    ขณะที่คุณสุเทพ วงศ์กำแหง และคุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ กำลังอยู่ในห้องบันทึกเสียง (ภาพเมื่อปี 2527)


    หลังจากเพลงนี้บันทึกเสียงเสร็จเรียบร้อยแล้ว หากตั้งใจฟังให้ดี จะเห็นได้ชัดถึงลีลาการร้องที่บ่งบอกถึงอารมณ์และความรู้สึกในตอนที่ว่า

    “ตะโกนกู่ร้อง....เรียกจนก้องฟ้า
    คอยเธอ...คอยเธอให้ก้าวเข้ามา
    ร่วมมรรคา...ร่วมชั้น สามัญชน”

                   คุณกิ่งกาญจน์ กาญจนา4 นอกจากจะเป็นผู้ร้องเพลง “ลาร่มศรีตรัง” แล้ว ยังได้รับมอบหมายจาก “นายแพทย์วีรชัย ศิริพานิชย์” คุณหมอนักแต่งเพลงคู่ชีวิต ให้ช่วยทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อประสานงาน และอำนวยความสะดวกให้แก่นักร้อง นักดนตรี รวมทั้งผู้เรียบเรียงเสียงประสาน (คุณพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์5) ตลอดเวลาที่มีการบันทึกเสียงเพลงชุด “ฝากดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” ที่ห้องบันทึกเสียงศรีสยาม ดินแดง กรุงเทพฯ
                   การจัดทำเทปเพลงชุด “ฝากดวงใจไว้ที่ร่มศรีตรัง” ที่สำเร็จขึ้นมาได้นั้น นอกจากจะมี “คุณมนตรี สุปัญโญ6” ที่ได้ให้ความช่วยเหลือ โดยเป็นผู้จัดทำโน้ตเพลงทั้ง 6 เพลงในชุดนี้ และเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการจัดทำแล้ว ยังมี “นายแพทย์วีรชัย ศิริพานิชย์” อีกคนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยสมควรจะต้องจารึกไว้ ทั้งนี้เนื่องจากหมอวีรชัยเป็นผู้จุดประกายความคิดให้เกิดการสร้างสรรค์งานเพลงอันเป็นอมตะของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หมอวีรชัยเป็นใคร มีความสำคัญต่อการจัดทำเพลง ม.อ. อย่างไรนั้น ผมจะนำมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป

     

    1. วัชรินทร์ พุทธพรไพสิฐ (ไตรวุฒานนท์)
              ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.รุ่นที่ 5 อดีตอุปนายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ปีการศึกษา 2518 ปัจจุบันทำงานเป็นผู้จัดการบริการสวัสดิการและสำนักงาน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

     

    2. พรชัย ศิริไพรวัน
              ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ รุ่นที่ 6 ปัจจุบันประกอบกิจการส่วนตัวที่บริษัท เมืองไทยอะลูมิเนียมและพลาสติก จำกัด เลขที่ 119 หมู่ 1 ต.บางกระดี่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี
    3. แพทย์หญิงเพ็ญนภา (สำรวย) ทรัพย์เจริญ
           แพทยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) รุ่น 1 จาก ม.อ. เคยดำรงตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดปราจีนบุรี, ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย, รองอธิบดีกรมพัฒนาแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก และสาธารณสุขนิเทศก์ เขต 8 และ 9 กระทรวงสาธารณสุข (เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งถุงน้ำดี เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2550)
    4. กิ่งกาญจน์ กาญจนา (ชื่อจริงคือ กัลยา ศิริพานิชย์)
                   อดีตนางฟ้าสีขาว (พยาบาล) ที่ได้รับการชักนำจากนายแพทย์วีรชัย ศิริพานิชย์ คุณหมอนักแต่งเพลงคู่ชีวิต เข้าสู่วงการเพลง ได้รับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำจากเพลง “เศร้า” มีผลงานเพลงที่ได้รับความนิยมมากมาย อาทิ รักโลเล, เดือนคว่ำ-เดือนหงาย (ร้องคู่กับคุณชินกร ไกรลาศ), พยาบาลรำพัน, ไม่เหลืออะไรให้รัก, จะลืมทั้งที่ยังรัก, น้ำตาไม่มีไหล, ว่าแล้วก็ร้องไห้, อยู่หรือตายไม่มีประโยชน์ ฯลฯ
      5. พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์
                   ครูเพลง นักเรียบเรียงเสียงประสานชื่อดัง เจ้าของผลงานเพลงที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน และรางวัลเสาอากาศทองคำมากมาย อาทิ
                                 เพลง “ไทยธำรงไทย”                    ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2514
                                 เพลง “น้ำตาหรือจะแก้ปัญหาใจ”         ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2518
                                 เพลง “ตะแลงแกงแทงใจ”                ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2520
                                 เพลง “พะวงรัก”                          ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2521
                                 เพลง “สุดเหงา”                          ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2525
    6. มนตรี สุปัญโญ หรือที่บุคลากรรุ่นแรกๆ ของ ม.อ.จะรู้จักในนาม “พี่หมู”
                   นับเป็นผู้มีคุณูปการกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในด้านการจัดทำเพลงมหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง จนสามารถกล่าวได้ว่า เพลงของ มอ. ทุกเพลง (ยกเว้น 4 เพลงดั้งเดิมที่วงสุนทราภรณ์แต่งให้) เกิดขึ้นได้เพราะพี่หมู ท่านได้เสียสละให้คำปรึกษาแนะนำ หลักวิชาการดนตรีและบทเพลง รวมทั้งจัดทำโน้ต จนกระทั่งงานเพลงของมหาวิทยาลัยสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี นอกจากนั้นแล้ว เมื่อมหาวิทยาลัยจัดงานใดๆ พี่หมูจะมาเล่นดนตรีให้ โดยไม่คิดค่าตอบแทนอยู่เป็นนิจสิน
                    มนตรี สุปัญโญ เป็นที่รู้จักกันดีในวงการดนตรีเมืองไทย ได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถเป็นเลิศทางดนตรี และเล่นดนตรีได้หลายประเภท คุณมนตรีเกิดในตระกูลศิลปิน เป็นพี่ชายของคุณฉันทนา กิติยพันธ์ คุณสรายุทธ สุปัญโญ และเป็นลุงของคุณเสาวลักษณ์ ลีละบุตร (แอม)

    ถ่ายทอดข้อมูลโดย อ.มนัส กันตวิรุฒ

     
    ปัญหาข้อที่ 2 : 
       
    คำถาม     : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของ มหาวิทยาลัย เป็นจำนวนกี่ครั้ง
       
    คำตอบ     : ข) 16 ครั้ง
       

    เกร็ดความรู้

                   นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ติดต่อกันเป็นจำนวน 16 ครั้ง (มีเว้นเพียง 1 ครั้งในปี พ.ศ. 2525 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์)

    ครั้งที่ 1 วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2515

                   เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2513 และปีการศึกษา 2514 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

                       มีผู้สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาตรี ในสาขาต่างๆ รวม 82 คน (ปีการศึกษา 2513 จำนวน 13 คน, ปีการศึกษา 2514 จำนวน 69 คน)
                     ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง อธิการบดีเชิญปริญญาบัตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมเครื่องกล) ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วย

    ครั้งที่ 2 วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2516

                   เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2515 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
                   มีผู้สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาตรี ในสาขาต่างๆ รวม 263 คน
                   ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์สวัสดิ์ สกุลไทย์ อธิการบดีเชิญปริญญาบัตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศึกษาศาสตร์) ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ด้วย

    ครั้งที่ 3 วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2517

                   เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2516 ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
                   มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาต่างๆ รวมทั้งสิ้น 425 คน

    ครั้งที่ 4 วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2518

                     เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2517 ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
                     มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาต่างๆ รวมทั้งสิ้น 372 คน

    ครั้งที่ 5 วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2519

                    เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2518 ณ บริเวณอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                    มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาต่างๆ รวมทั้งสิ้น 333 คน

    ครั้งที่ 6 วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2520

                   เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2519 ณ บริเวณอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                   มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาต่างๆ รวมทั้งสิ้น 392 คน
                   นอกจากนี้ ยังมีผู้จบหลักสูตรอนุปริญญาพยาบาล (หลักสูตร 3 ปี) ของคณะแพทยศาสตร์ อีก 19 คน
                   ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานปริญญาบัตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่อธิการบดี เพื่อนำทูลเกล้าฯ ถวายแด่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

    ครั้งที่ 7 วันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2521

                    เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2520 ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
                    มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาต่างๆ รวมทั้งสิ้น 590 คน

    ครั้งที่ 8 วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2522

                     เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2521 ณ อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                     มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาต่างๆ รวมทั้งสิ้น 935 คน

    ครั้งที่ 9 วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2523

                     เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2522 ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
                     มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาต่างๆ รวมทั้งสิ้น 818 คน

    ครั้งที่ 10 วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2524

                      เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2523 ณ โรงยิมเนเซียม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                      มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาต่างๆ รวมทั้งสิ้น 939 คน




    ครั้งที่ 12 วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2526

                      เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2525 ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
                      มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                                   • ระดับมหาบัณฑิต จำนวน 6 คน
                                                   • ระดับประกาศนียบัตร สูงกว่าปริญญาตรี จำนวน 72 คน 
                                                   • ระดับบัณฑิต จำนวน 1,053 คน
                      ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ด้วย

    ครั้งที่ 13 วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2527

                 เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2526 ณ โรงยิมเนเซียม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

                 มีผู้สำเร็จการศึกษา
                           • ระดับมหาบัณฑิต จำนวน 7 คน
                           • ระดับบัณฑิต จำนวน 1,078 คน
                 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานปริญญาบัตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศึกษาศาสตร์) แก่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วย

    ครั้งที่ 14 วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528

                   เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2527 ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
                   มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                       • ระดับมหาบัณฑิต จำนวน 16 คน
                                       • ระดับบัณฑิต จำนวน 1,226 คน
                   ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติถวายปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ด้วย

    ครั้งที่ 15 วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2529

                     เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2528 ณ โรงยิมเนเซียม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                     มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                          • ระดับมหาบัณฑิต จำนวน 12 คน
                                          • ระดับบัณฑิต จำนวน 1,255 คน

    ครั้งที่ 16 วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2530

                     เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2529 ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
                     มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                          • ระดับมหาบัณฑิต จำนวน 21 คน
                                          • ระดับบัณฑิต จำนวน 1,299 คน
                      ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ด้วย

    ครั้งที่ 17 วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2531

                      เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2530 ณ โรงยิมเนเซียม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
                      มีผู้สำเร็จการศึกษา
                                          • ระดับมหาบัณฑิต จำนวน 15 คน
                                          • ระดับประกาศนียบัตร สูงกว่าปริญญาตรี จำนวน 9 คน
                                          • ระดับบัณฑิต จำนวน 1,367 คน
                                          • อนุปริญญา จำนวน 184 คน

    เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย..คุณเรณู ชมชาญ หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ วิทยาเขตหาดใหญ่
    เรียบเรียงและตรวจสอบข้อมูลโดย...อ.มนัส กันตวิรุฒ

    ติดต่อเรา

    หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
    15 ถ.กาญจนวณิชย์ ต.คอหงส์
    อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

    ♦️ ติดต่อสำนักงาน
    โทรศัพท์ 0-7428-2990
    โทรสาร 0-7428-2999

    ♦️ ติดต่อเข้าชมนิทรรศการถาวร
    โทรศัพท์ 0-7428-2993

    ♦️ แผนที่

    เครือข่ายหอประวัติ

    ♦️ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล
    ♦️ พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
    ♦️ หอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ
    ♦️ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    ♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    ♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
    ♦️ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
    ♦️ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
    ♦️ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
    ♦️ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
    ♦️ พิพิธภัณฑ์สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
    ♦️ หอประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
    ♦️ มิวเซียมไทยแลนด์

    นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

    เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน